รายงานข่าวสังคม เพลินรู้ชมตลาด….ก้าวเล็ก ๆ สู่การเรียนรู้สิ่งรอบตัว กิจกรรมเพื่อเยาวชนที่..ยิบอินซอย…คิด และโรงเรียนให้การสนับสนุน

รายงานข่าวสังคม

เพลินรู้ชมตลาด….ก้าวเล็ก ๆ สู่การเรียนรู้สิ่งรอบตัว

กิจกรรมเพื่อเยาวชนที่..ยิบอินซอย…คิด และโรงเรียนให้การสนับสนุน

นักเรียนชาย-หญิงจำนวน 15 คนของโรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม เดินเรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ พร้อมครูประจำชั้นและครูกิจกรรม ที่คอยช่วยดูแลความปลอดภัยมายังลานใบไม้ของ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เพื่อมาร่วมกิจกรรม…..เพลินรู้ชมตลาด…..ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นในงานตลาดนัดลานใบไม้ครั้งที่ 5 เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ความรู้สึกของเด็ก ๆ นั้น แน่นอนต้องตื่นเต้น เพราะจะได้ใช้เวลาในช่วงบ่ายวันศุกร์ เช่นวันนี้ เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ผ่านกิจกรรมนอกสถานที่ ซึ่งเด็ก ๆ ยอมรับในภายหลังว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ที่สำคัญการเรียนรู้ครั้งนี้เด็ก ๆ ทุกคนยังได้มีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรม และสุดท้ายนอกจากได้รับความรู้ ความสนุกสนาน ขนมอร่อย ยังมีของที่ระลึกจากฝีมือของเด็ก ๆ เองกลับไปอวดคุณพ่อ คุณแม่ที่บ้าน พร้อมกับบอกเล่ากิจกรรมที่ทำให้จบวันด้วยความสุขใจ

กิจกรรม…เพลินรู้ชมตลาด….ครั้งนี้ ยิบอินซอยได้จัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ไว้ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการทำศิลปะ Marbling Art ศิลปะการวาดลวดลายบนผืนผ้า โดยได้รับเกียรติจาก…ครูแอน.. แห่ง Ann Marbling Art เป็นผู้นำความรู้มาถ่ายทอดให้เด็ก พร้อมกับเตรียมกระเป๋าผ้ามาให้เด็กลองทำงาน Marbling Art ด้วยตัวเอง เด็กๆ ทุกคนจึงได้กระเป๋าผ้าซึ่งเป็นผลงาน Marbling Art ของตนเองกลับไปอวดพ่อแม่ และใช้ใส่สิ่งของได้ตามต้องการ จุดเด่นของกระเป๋าผ้าที่เด็ก ๆ ทำ ซึ่งครูแอนคิดมาให้เรียบร้อยแล้ว คือลวดลายบนกระเป๋าที่ไม่ซ้ำกัน ถือเป็นงานชิ้นเอก ที่ต่างคนต่างก็มีกันคนละ 1 เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงงาน Marbling Art นั้น สามารถทำชิ้นงานที่เหมือนกันได้ จึงถือเป็นความละเอียดของครูแอนเอง ที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็ก แม้ขั้นตอนในการทำงาน Marbling Art จะไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เพราะทุกอย่างถูกตระเตรียมมาเป็นอย่างดี แต่กว่าเด็ก ๆ จะได้ผลงานของตนเอง เด็กๆ จะต้องเรียนรู้การฟัง การสร้างจินตนาเพื่อให้ได้ผลงานที่แตกต่าง และศิลปะในมุมที่เด็กเห็น แน่นอนคือความสนุกและเลอะเทอะ ดังนั้นหากไม่ระวังผลงานอาจไม่สวยอย่างที่ตั้งใจ ซึ่งครูแอนก็จะใส่เทคนิคความสวยงาม ให้กับชิ้นงานของเด็ก ๆ ทุกคน ขณะที่เด็ก ๆ ลงมือทำ ตลอดการทำกิจกรรมจึงเห็นเด็ก ๆ ทุกคนตั้งใจกันมาก และผลงานที่ออกมาก็ถูกใจดังที่คาดไว้

จากความงามของศิลปะ เด็ก ๆ ถูกพามาเรียนรู้ในกิจกรรมที่สอง เรื่อง…การทำปุ๋ยอินทรีย์ในถังหมักปุ๋ยในบ้าน…..โดยงานนี้ได้วิทยากรที่เรียนรู้เทคนิคขั้นสุดจากการทำปุ๋ยอินทรีย์ในบ้านมาถ่ายทอด เด็ก ๆ จึงเรียนรู้จากพี่ ๆ กลุ่ม…ผัก Done…ได้อย่างง่ายดาย การนำเศษอาหารที่ก่อนหน้านี้ จะต้องถูกทิ้งลงถังขยะเพียงอย่างเดียว มาเป็นปุ๋ยอินทรีย์จึงจบลงด้วยความเข้าใจและความสนุกสนานดังที่คาดไว้ เพราะพี่ ๆ ได้เตรียมการนำเสนออย่างเป็นขั้นตอน พร้อมการทดลองจริงมาให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ตรง และหากคุณพ่อ คุณแม่ของเด็ก ๆ จะสนใจ ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เช่นกัน โดยเริ่มจากขั้นตอนการเตรียม ซึ่งประกอบด้วย การเตรียม Compost Starter ภาชนะสำหรับหมัก อินทรียวัตถุ น้ำตาลและน้ำหัวเชื้อจุลลินทรีย์

เมื่อเริ่มลงมือทำ ก็จะเอาเศษอาหารที่มีใส่ลงในภาชนะและบดหรือตัดเศษอาหารให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นจึงเอาเศษอาหารที่ได้มาผสมกับ Compost Starter เพื่อให้ความชื้นแฉะของเศษอาหารที่มีอยู่ลดลง เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ขั้นตอนต่อมาคือการนำน้ำตาลที่เตรียมไว้ลงมาผสมและพรมน้ำหัวเชื้อจุลลินทรีย์พอมาด ๆ จากนั้นจึงนำทั้งหมดลงมาใส่ยังภาชนะสำหรับหมัก หรือ Compost box ปิดฝากล่องทุกครั้งหลังจากเสร็จการทำปุ๋ยในแต่ละวัน โดยกล่องสำหรับหมักนี้ สามารถใส่ปุ๋ยจากเศษอาหารได้อีกหลายครั้งจนกว่ากล่องจะเต็ม สำหรับการทำปุ๋ยอินทรีย์ในถังหมักปุ๋ยในบ้านที่เราทำนี้ต้องใช้เวลาหมักประมาณ 1 เดือนจึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ แต่ถ้าปริมาณเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสามส่วนสี่ถังจะใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ เมื่อปุ๋ยได้ที่แล้วสามารถนำมาใช้ได้ทุกครั้งที่ต้องการ กิจกรรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ในถังหมักปุ๋ยในบ้าน ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้การนำสิ่งที่ในอดีตไม่มีค่า มาเพิ่มมูลค่าด้วยกรรมวิธีง่ายๆ เป็นการแสดงความรักต่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่เด็ก ๆ สามารถทำร่วมกับผู้ปกครองได้

กิจกรรมสุดท้ายคือการเรียนรู้…..การทำและชิมกล้วยไข่เชื่อม…..ขนมไทยที่ทำได้เองง่ายๆ ที่บ้าน โดยวิทยากรจาก “ร้านขนมป้าปราง องครักษ์ นครนายก” แม้ว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะเคยชิมกล้วยไข่เชื่อมมาแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนที่ผ่าน เพราะเด็กช่วยยิบ จับ หันกล้วยไข่ แบบจริงจัง ไม่กลัวกล้วยเปรอะมือ ไม่กลัวร้อน พื้นที่เรียนอาจจะคับแค้นไปสักนิด แต่ความสนุกสนานก็ไม่น้อยลงไปเลย นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังมีประกายตาใสปิ้ง เพราะกลิ่นหอมและความอร่อยรออยู่แล้วเบื้องหน้า สำหรับเคล็ดลับความอร่อยของร้านป้าปรางก็เริ่มจาก กล้วยไข่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ ต้องเลือกชนิดที่ห่าม และควรใช้ผลเล็ก หรือกล้วยไข่ไทย หากใช้ผลใหญ่จะแข็งและเนื้อนอกจะยุ่ย เคล็ดลับต่อมาคือหลังจากที่นำกล้วยไข่ลงไปเชื่อมในน้ำเชื่อมแล้ว การสังเกตว่ากล้วยได้ที่แล้วหรือยัง จะดูจากผลกล้วยที่เริ่มสุขจะค่อยๆ พองขึ้นและเริ่มมีรอยแตกเป็นริ้วๆ ขั้นตอนนี้จึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยไว้นานเกินไปกล้วยอาจจะขาดออกจากกัน ทำให้ได้กล้วยเชื่อมที่ไม่สวย เคล็ดลับนี้ทำให้กล้วยไข่เชื่อมจากร้านขนมป้าปราง อร่อยเด็ดกว่าใคร

อ.ปิยกานต์ ขาวหนูนา บอกว่า…..โรงเรียนวัดมหาพฤฒารามเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กนักเรียนประมาณ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่ของเด็กที่มาเรียนจะมาจากพ่อแม่ที่มารับจ้างทำงานในเขตนี้ หรือลูกของแรงงานต่างชาติ ปกติโรงเรียนก็จะมีกิจกรรมเสริมการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่การที่บริษัท ยิบอินซอย จำกัด จัดงานนี้และได้เชิญทางโรงเรียนให้พาเด็กมาร่วมกิจกรรม ถือเป็นการกระตุ้นการรับรู้และสร้างจินตนาการให้เด็กต่อการเรียนรู้ได้มากกว่า ถ้าหากทางโรงเรียนจะนำกิจกรรมนี้ไปทำเองก็จะใช้งบสูงมาก ซึ่งคงไม่สามารถทำได้ เด็กมาร่วมกิจกรรมนี้จึงได้รับประโยชน์มากค่ะ และเมื่อเด็กกลับไปยังโรงเรียนคุณครูก็จะจัดให้มีการรายงานถึงความประทับใจที่เด็ก ๆ มีต่อการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งในโอกาสนี้ทางโรงเรียนต้องขอขอบคุณทางยิบอินซอยเป็นอย่างมาก ที่เห็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มีกิจกรรมดี ๆ จัดขึ้นเสมอและทางโรงเรียนหวังว่าจะได้มีโอกาสพาเด็ก ๆ มาร่วมกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้อีก

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ให้ความสำคัญกับสังคมและชุมชนมาโดยตลอด การเปิดตัวของลานใบไม้และการจัดงาน…ตลาดนัดลานใบไม้..ก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้พื้นที่ ๆ ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนสังคมและชุมชน ท่านที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของลานใบไม้ และรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ของตลาดนัดลานใบไม้ สามารถดูข้อมูลได้ที่ www.facebook.com/lanbaimai.market รวมถึงการรับชมภาพความสำเร็จของกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ณ ลานใบไม้ได้ที่ www.facebook.com/larnbaimai

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.