คณะวิศวลาดกระบังเปิดเวทีชิงแชมป์โต้วาทีภาษาอังกฤษ… ลับคมคิด ฟิตภาษา

2-บรรยากาศงานโต้วาที-Medium

วิศวกรไร้พรมแดนกำลังเป็นจริงเมื่อประตูประชาคมอาเซียนกำลังเปิดออกและเชื่อมโยง 10 ประเทศเข้าด้วยกันให้ติดต่อสื่อสารกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดการแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 (MITSUBISHI ELECTRIC- FRESHMEN DEBATE CONTEST 2015)โดยร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเวทีคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกเพื่อพัฒนาทักษะและศิลปะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ผสมผสานองค์ความรู้ เสริมศักยภาพ “คน” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยมีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 1,400 คน, รอบแรกคัดเหลือ 10 ทีม, รอบรองชนะเลิศ 4 ทีม และ 2 ทีมเข้าชิงชัยในรอบชิงชนะเลิศ

ช่วงบ่ายบรรยากาศคึกคัก ณ ออดิทอเรียม หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เต็มไปด้วยนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่ต่างมาลุ้นเชียร์เพื่อนๆ ที่เข้าแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 (MITSUBISHI ELECTRIC-FRESHMEN DEBATE CONTEST 2015) โดยมีคณะกรรมการตัดสินและคอมเม้นเตเตอร์ 6 ท่านได้แก่ มร. แพทริค ไดร์ชี่, มร.เดวิด โบชองป์, รศ.ดร. อุมา สีบุญเรือง, ครูติงลี่คนดัง หรือ อ.รัชตะ กิตติโกสินทร์, ดร.รัชนี กุลยานนท์, ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา มาให้คำวิจารณ์และแง่คิดมุมมองสำหรับทีมที่เข้าแข่งขัน อย่างสนุกสนานครบทุกรสชาติ โดยเกณฑ์การตัดสินประกอบไปด้วย เนื้อหามีความถูกต้องและสร้างสรรค์, ความคล่องในทักษะภาษาอังกฤษ, ความสามารถในการถ่ายทอดโน้มน้าว และสามารถควบคุมเวลาตามที่กำหนด มีความสามัคคีและการเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดเวทีโต้วาทียังมี Special Talk เรื่อง “วิศวกร ฟันเฟืองสำคัญในศตวรรษที่ 21” จากคุณเรียวจิ อันโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และ Inspiration Talk โดยครูพี่แนนคนดัง อริสรา ธนาปกิจ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ ภายในงานมีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะสนุกสนาน สอดแทรกสาระความรู้พร้อมเกมและของรางวัลมากมาย

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “การแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 เป็นอีกหนึ่งกิจกิจกรรมที่กระตุ้นให้นักศึกษาได้เอ็กเซอร์ไซส์การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อวิชาชีพวิศวกร ลับคมความคิดวิเคราะห์ พัฒนาบุคลิกภาพ กล้าแสดงออก มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาอังกฤษ ส่งเสริมการเสาะแสวงหาความรู้และการทำงานเป็นทีม เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่ตลาดแรงงานของประเทศและในประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้มีการปฏิรูปการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมโลกอนาคต ซึ่งวิศวกรในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งต้องรอบรู้ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีคุณธรรมและความเป็นผู้นำที่จะร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทย และที่ขาดไม่ได้คือความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เนื่องจากในอนาคตวิศวกรจะต้องสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ได้ในระดับสากลทั้งวิชาการ การปฏิบัติงาน และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มาจากสังคมต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมได้”

คุณเรียวจิ อันโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการแข่งขันการโต้วาทีประจำปี 2558 สนับสนุนศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ให้เขามีความพร้อมในทุกด้าน คือ การเป็น “คนเก่ง” มีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับวิชาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ศึกษาอยู่ (Engineering Skills) และการเป็น “คนมีทักษะ” (Soft Skills) ได้แก่ ทักษะในการสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม รวมถึงการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาทางการของอาเซียน และมีความสำคัญมากในการติดต่อธุรกิจระดับสากล ทั้งนี้หากนักศึกษามีความรู้ความสามารถครบทั้งสองด้านนี้ ก็สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง ก้าวสู่โลกแห่งการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นฟันเฟืองทีสำคัญในการพัฒนาสังคมประเทศชาติและอาเซียนให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป”

ผลรอบชิงชนะเลิศ ทีมฝ่ายค้าน จ๊อบเกียแบม (JOBGIABAM) คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ ประจำปี 2558 ภายใต้ญัตติ เราควรศึกษาต่อหลังการเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ (Should We Continue Studying after Engineering Graduation) นางสาวปัณณธร ตั้งรุ่งเรืองชัย หัวหน้าทีมค้าน กล่าวว่า “ทีมของเรามีสมาชิก 3 คน จากภาควิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ วันนี้รู้สึกตื่นเต้นดีใจสุดๆ กับรางวัลชนะเลิศ เราเป็นฝ่ายค้านในการศึกษาต่อหลังเรียนจบเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลว่า ควรทำงานหลังจากเรียนจบในระดับปริญญาตรี เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ จะทำให้เราประสบความสำเร็จ มากกว่าการเลือกศึกษาต่อ เพราะไม่ได้เรียนรู้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่ได้ประสบการณ์โดยตรงจากการปฏิบัติจริง เศรษฐกิจยุคดิจิตอลต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ต้องอาศัยกำลังสำคัญคือคนทำงานที่มีความรู้และประสบการณ์มาเป็นผู้พัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ไปแข่งขันกับเวทีระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้ จากสถิติในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีประชากรที่กำลังทำงาน 55.29 ล้านคน ประชากรที่กำลังเรียนหนังสือ 4.44 ล้านคน ผู้ที่ทำงานนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของสินค้าและแบรนด์ของไทย สร้างรายได้ให้เกิดการหมุนเวียนพัฒนาเศรษฐกิจไทย คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการทำงานย่อมเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตและความสำเร็จ นำวิชาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในโลกความเป็นจริง”

นายโชติรวี ฉัตรพัฒนศิริ หัวหน้าทีมฝ่ายสนับสนุน จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวว่า “ทีมของเรามีเวลาฝึกซ้อมน้อย แต่ซ้อมหนักมาก นับเป็นความประทับใจและกำไรของชีวิตที่ครั้งหนึ่งได้มาโต้วาทีเป็นภาษาอังกฤษบนเวที ต่อหน้าผู้ชมหลายร้อยคน ยิ่งแข่ง ยิ่งทำให้เราเข้าใจการโต้วาทีมากขึ้น และรับรู้ว่าระดับภาษาอังกฤษของเรา อยู่ระดับไหน ในการฝึกซ้อมพวกเราจะฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ที่เป็นซาวด์แทร็ก ด้วย เพื่อเพิ่มความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษและการฝึกพูดให้ชัดเจนฉะฉาน มีเสียงสูงต่ำเน้นย้ำ เพิ่มน้ำหนักให้ประเด็นโต้วาทีน่าสนใจและเห็นคล้อยตาม…เราเป็นฝ่ายสนับสนุน การศึกษาต่อเพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (Continuing for self-development) ด้วยเหตุผลว่า การเรียนต่อเป็นการพัฒนาตนเองในระดับความรู้ขั้นสูงขึ้นไปและประสบการณ์ให้ต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีหลายหลักสูตรใหม่ๆปริญญาโท-เอกที่เปิดสอนตอบรับความต้องการของตลาดแรงงานในระดับสากลและประชาคมอาเซียน ผลิตให้บัณฑิตเป็นวิศวกรที่มีคุณภาพของสังคมโลก ดังนั้น นักศึกษารุ่นใหม่จะได้รู้จริง ทำจริง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเชิงวิชาชีพ ทุกวันนี้รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนที่เรียกว่า “สหกิจ” ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ การเรียนต่อจึงช่วยให้เราได้พัฒนาตนเองให้มีความพร้อมก่อนออกไปประกอบอาชีพ และมีบทบาทในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษ เป็นอีกเวทีซึ่งเยาวชนไทยได้พัฒนาการสื่อสารภาษาอังกฤษ วาทศิลป์ ลับคมความคิด การค้นคว้าข้อมูล และลีลาการแสดงออกอย่างมั่นใจ

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.