ความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเวทีสาธารณะ 22 เมย.59

S__37904499-Large-Medium

การฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาและพัฒนาภูมิทัศน์ครั้งสำคัญ โดย กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร มีเจตจำนงที่จะสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทุกคนทุกระดับสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกคน ดังเช่นในนานาประเทศนั้น โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) มุ่งขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาการสำรวจ และออกแบบ แจงความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและลงพื้นที่ 32 ชุมชน ได้ข้อคิดเห็นจากชุมชนและภาคส่วนต่างๆ เดินหน้างานศึกษา สำรวจและวิเคราะห์พื้นที่ศึกษาด้านภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยา งานออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) ทางเดิน-ปั่นในระยะทาง 14 กม. พร้อมทั้งเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว ถนนปิ่นเกล้า พร้อมแผนเตรียมเปิด ศูนย์เรียนรู้เจ้าพระยา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ชุมชนและประชาชน ได้ศึกษาวิจัยและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยตลอดสองฝั่งแม่น้ำ เชื่อมโยงการศึกษา ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว พร้อมไปกับการอนุรักษ์และพัฒนาสืบสานชุมชนวัฒนธรรมริมน้ำ

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) ขับเคลื่อนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ชุมชน และเมือง ด้วยองค์ความรู้ การศึกษาวิจัยทางวิชาการ ประสบการณ์ของเชี่ยวชาญและผสานเทคโนโลยี โดยได้เริ่มทำงานศึกษา สำรวจและออกแบบอย่างรอบด้านและบูรณาการกันของบุคคลากรทุกฝ่าย เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำ พัฒนาภูมิทัศน์ ทางเดิน และสืบสานวัฒนธรรมชุมชนริมฝั่งน้ำ ภายใต้แนวคิดหลัก “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” (Chao Phraya for All) ส่วนความคืบหน้าของโครงการ คณะทำงานได้ทบทวนศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เกี่ยวกับผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำทั้งของไทยและต่างประเทศและแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ที่ได้ดำเนินการผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นประโยชน์กับการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนา และโครงการต่างๆ ตามแนวสายทาง 57 กม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่ศึกษา ทางที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนที่แสดงรายละเอียดของภูมิประเทศ ได้จัดทำแผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วเสร็จ, การศึกษาด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยา ได้ทำการรวบรวมข้อมูลระดับน้ำสูงสุดในปีต่างๆ ของสถานีวัดน้ำต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 21 สถานี และได้วิเคราะห์ค่าเฉลี่ย ค่าสูงสุด ต่ำสุด ในรายปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดรูปแบบโครงสร้างและสถาปัตยกรรม และในเดือนเมษายน ที่ปรึกษาจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้มาซึ่งข้อมูลด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยาเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำรูปแบบโครงสร้างและสถาปัตยกรรม และเป็นข้อมูลประกอบในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ต่อไป, การศึกษาและออกแบบกรอบแนวความคิดผังแม่บทและงานสถาปัตยกรรม อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมผลจากการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำมาออกแบบแนวความคิดและแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการจากแต่ละชุมชน พร้อมทั้งเตรียมลงสำรวจชุมชนในพื้นที่ศึกษา และรวบรวมแนวความคิด สภาพปัญหาตามเส้นทาง ตลอดจนสภาพปัญหาในชุมชนต่างๆ เพื่อนำมามาออกแบบเชิงหลักการ(Conceptual design drawing) ที่สอดคล้องกับแผนการพัฒนา และสภาพปัญหาที่พบในแต่ละชุมชน ประกอบการจัดทำแผนแม่บทในโครงการตลอดเส้นทาง 43 กม. และออกแบบขั้นรายละเอียด 14 กม. ส่วนการศึกษาด้านวิศวกรรมและระบบสาธารณูปโภค ในรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ปรึกษาได้ปฏิบัติงานตามแผนงานในส่วนงานของศึกษาทบทวนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และบริบทของโครงการ พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจสภาพทางกายภาพตามแนวเส้นทางโครงการในบางส่วน และจัดทำข้อกำหนดการออกแบบ (Design Criteria) พร้อมเกณฑ์มาตรฐานหรือข้อบัญญัติ (Codes and Regulations) ที่ใช้ในการออกแบบทั้งส่วนงานวิศวกรรมและงานระบบสาธารณูปโภค และเร็วๆนี้ จะลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางโครงการในส่วนที่เหลือ และทำการศึกษาและออกแบบรูปแบบด้านวิศวกรรม และออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) ให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักจากด้านสถาปัตยกรรม (Conceptual Design) ตามแผนงานที่ได้วางไว้

สำหรับรายงานการออกแบบเบื้องต้นและแบบเบื้องต้น (Preliminary Drawing) ทางเดิน-ปั่นระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร พร้อมราคาเบื้องต้นจะแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ โดยจะมีร่างแนวคิดการออกแบบ ของเขตที่เป็นกรณีตัวอย่าง เป็นแบบแรกที่จะนำเสนอภายในงานเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ด้วย

ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการฝ่ายสถาปัตยกรรม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่าการออกแบบโครงการจะมุ่งเน้นรักษาอัตลักษณ์เป็นสำคัญ ไม่ให้ถูกเปลี่ยนแปลง อาทิ ชุมชนโบราณ หรือชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีวัฒนธรรม จึงต้องออกแบบให้สะท้อนคุณค่าอัตลักษณ์ที่แตกต่างของย่านนั้นๆ และเชื่อมโยงยุคสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ ให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้ซึมซับศิลปวัฒนธรรม

ด้าน รศ.สุพจน์ ศรีนิล ฝ่ายวิศวกรรม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ในการลงพื้นที่กับประเด็นที่เป้นห่วงเรื่องผลกระทบทางชลศาสตร์ จึงมีการศึกษารูปแบบที่ดูสวยงามให้หลากหลาย ทั้งสิ่งที่มีในประเทศและต่างประเทศ โครงสร้างที่สวยงามและไม่บดบังทัศนียภาพ โดยความสูงไม่เกินเขื่อนกั้นน้ำ ส่วนระบบรวบรวมน้ำเสียจะต้องหาจุดบำบัดน้ำ หลายแห่งไม่มีเส้นทางระบายน้ำเสีย

ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ด้านความคืบหน้าของกระบวนการมีส่วนร่วมและการลงพื้นที่ศึกษา สำรวจชุมชน โดยทีมการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ได้พบปะผู้นำชุมชนและลงพื้นที่ชุมชน 32 ชุมชนใน 4 เขต ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแจ้งความเป็นมา วัตถุประสงค์ แผนงานของโครงการฯ และได้รับความคิดเห็น ข้อกังวลใจ ข้อแนะนำในการดำเนินงานโครงการฯ ได้ครบพื้นที่ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยที่ปรึกษาได้จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วม 4 ประเภท ดังนี้ 1.) ประชุมหารือกับตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต และชุมชน รวม 17 แห่ง 2.) ประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) รอบที่ 1 ใน 32 ชุมชน แบ่งเป็น เขตบางพลัด 16 ชุมชน, เขตบางซื่อ 4 ชุมชน, เขตดุสิต 7 ชุมชน และเขตพระนคร 5 ชุมชน 3.) สัมภาษณ์เชิงลึก (In – Depth Interview) อาทิ ผู้ประกอบการ พระ เจ้าอาวาส ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ในพื้นที่โครงการฯ 4.) ประชุมกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม วัด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ผลสรุปในภาพรวมพบว่าหลังจากคณะทำงานโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการฯ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล ข้อกังวลและเสนอแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งในเขตพระโขนงมีแนวคิดจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการชุมชน” ที่จะทำงานคู่ขนานกับการดำเนินงานของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อการปรึกษาหารือ ร่วมออกแบบ และร่วมติดตามผลการดำเนินงานตลอดกระบวนการ นอกจากนี้แต่ละชุมชนก็ร่วมนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ ประวัติศาสตร์ชุมชน สถานที่สำคัญภายในชุมชน พร้อมทั้งเสนอแนะข้อคิดเห็นในหลากหลายมิติรวมทั้งข้อโต้แย้งซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการศึกษาขั้นต่อไป และปัญหาที่ต้องการการแก้ไขในชุมชน เช่น ปัญหาน้ำขัง น้ำเน่าเสีย ทางเดินในชุมชนมืด ขาดพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เขื่อนกั้นน้ำท่วมของเดิมของชุมชนเขตบางซื่อบดบังทิศทางลมและทิวทัศน์ ทางเดินไม่ควรผ่านหน้าวัดเทวราชกุญชร แต่น่าจะอ้อมผ่านทางของชุมชน ทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่และชุมชนให้น้อยที่สุด และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่และประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ มุ่งหวังให้การพัฒนาภูมิทัศน์ริมฝั่งเจ้าพระยาครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ การออกแบบขอให้ตอบสนองกิจกรรมและวิถีชุมชน คำนึงถึงประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในการใช้งาน ส่วนในบางชุมชนที่มีการสร้างที่พักอาศัยบนแม่น้ำ คณะทำงานโครงการทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เข้ามาจัดกระบวนเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การทำกลุ่มออมทรัพย์ สร้างความเป็นชุมชนให้แข็งแรง และร่วมกับชุมชนหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมที่จะดำเนินการในเดือนเมษายน 2559 คือ 1.) การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 2 ในชุมชน 32 แห่ง (ระยะ 14 กิโลเมตร) ในพื้นที่เขตบางพลัด บางซื่อ ดุสิต และพระนคร เพื่อสรุปข้อคิดเห็นความต้องการ ปัญหา และข้อกังวลใจจากการประชุมกลุ่มย่อยในครั้งที่ 1 ร่วมกัน พร้อมทั้งนำเสนอร่างแนวคิดเบื้องต้นของโครงการและปรับแก้ไขออกแบบร่วมกันกับชุมชน ก่อนจะนำไปเป็นข้อมูลให้คณะทำงานด้านสถาปัตยกรรมนำไปออกแบบต่อไป 2.) การเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและองค์กรหลายภาคส่วน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและนำมาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา และ 3.) การเข้าพบสมาคม องค์กร และผู้เกี่ยวข้อง ในลักษณะของการเข้าสัมภาษณ์ และประชุมกลุ่มย่อย เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ และขอความเห็น ข้อเสนอแนะ และความกังวลใจที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ กรมอุทกศาสตร์, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นด้น

โครงการฯ เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมจึงกำหนดจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ในวันที่ 22 เมษายน เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องอมรินทร์ ชั้น 3 โรงแรมเอส. ดี. อเวนิว ถนนปิ่นเกล้า เพื่อแนะนำโครงการ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น นำเสนอสาระสำคัญ พื้นที่ศึกษาโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวทางศึกษาของโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานราชการ, หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต, สถาบันการศึกษา, ศาสนสถานใกล้เคียง., สถานที่ราชการใกล้เคียง 4 เขต, ชุมชน 34 แห่งในพื้นที่ศึกษา(นำร่อง) 14 กม. ใน 4 เขต, สมาคมวิชาชีพต่างๆ, นักวิชาการ, ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ, ภาคธุรกิจเอกชน, องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชน

เวทีสาธารณะหรืองานประชุมรับฟังข้อคิดเห็นครั้งนี้จะนำเสนอสาระสำคัญโครงการ รายงานความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของโครงการ การสรุปผลการประชุมหรือหารือผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่เขต และผู้ประกอบการ 17 เขต และการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 รวม 32 ชุมชน ในเขตเขตบางพลัด บางซื่อ ดุสิต และพระนคร ภายในงานประชุมรับฟังข้อคิดเห็นจะนำเสนอแบบร่างแนวคิดการออกแบบพื้นที่ 1 ชุมชน (เขตบางซื่อ) และรูปแบบทางสัญจร 1 พื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานเกิดความเข้าใจและเห็นภาพการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการศึกษาวิจัยในขั้นตอนต่อไป และร่วมกันออกแบบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อประชาชนทุกคน ทั้งนี้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน อีก 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดประชุมเพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 และจัดประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการ ช่วงเดือนกันยายน 2559

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเวทีสาธารณะหรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2559 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องอมรินทร์ ชั้น 3 โรงแรมเอส. ดี. อเวนิว ถนนปิ่นเกล้า สำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 091-738-6859 อีเมล์ chaophrayaforall@gmail.com

ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวเสริมว่า “ทางโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีแผนที่จะจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้เจ้าพระยา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ การศึกษาวิจัยและองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับเยาวชน ชุมชน ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจ ประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรมริมฝั่ง ยุคสมัยต่างๆ ที่ปรากฏตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน เชื่อมโยงแม่น้ำกับคนรุ่นใหม่ได้สืบสานและพัฒนามรดกวัฒนธรรมให้มีชีวิตชีวาและยั่งยืน ดึงให้วิถีชีวิตคนไทยกลับมารักผูกพันกับสายน้ำเจ้าพระยา อีกทั้งเป้นประโยชน์ต่อชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประสบการณ์ด้วย”

——————————————————————

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.