ทีเส็บ เผยกลยุทธ์และแผนงานไมซ์ปี 60 ชูไมซ์เครื่องมือหลักพัฒนาเศรษฐกิจไทย กระจายรายได้สู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน

ทีเส็บประกาศแผนธุรกิจไมซ์ปี 60 สอดคล้องวิสัยทัศน์รัฐบาล มุ่งพัฒนาประเทศอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เผยกลยุทธ์อุตสาหกรรมไมซ์สอดรับการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติไมซ์ 20 ปี ชู 3 แนวทางหลัก คือ การสร้างรายได้ การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม และการสร้างความเจริญเพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนรวมในทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งเป้าดันไมซ์อุตสาหกรรมหลักพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ กระจายความเจริญและรายได้สู่ทุกภูมิภาคอย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ พัฒนากลยุทธ์ธุรกิจไมซ์ปี 2560 จากการศึกษา 5 แนวทาง ได้แก่ กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายประเทศไทย 4.0 นโยบายประชารัฐ แนวทางการนำศาสตร์พระราชาเป็นพื้นฐานมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน โดยนำ “หลักการทรงงาน” ที่มีวิธีคิดอย่าง “องค์รวม” (Holistic) และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเทรนด์ตลาดไมซ์โลก มาเป็นพื้นฐานในการวางแผนและดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจไมซ์ปี 2560 โดยมุ่งเน้นบูรณาการความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ทุกระดับทั้งในประเทศและนานาชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างงานใหม่และเพิ่มการดึงงานไมซ์คุณภาพให้เข้ามาในประเทศไทย

ด้านกลยุทธ์ที่ 1 ’การสร้างรายได้’ เพื่อความมั่งคั่ง มุ่งเจาะตลาดหลักไมซ์ต่างประเทศ เน้นตลาด เอเชีย ยุโรป อเมริกา และโอเชียเนีย ตามลำดับ มุ่งขยายระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยและกระจายรายได้ในการเดินทางต่อเนื่องไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ส่งเสริมสถานที่จัดงานทั่วประเทศให้มีมาตรฐานและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจไมซ์ พร้อมส่งเสริมศักยภาพประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางของงานไมซ์ขนาดเมกะไซส์ โดยกระตุ้นการเดินทางนักธุรกิจไมซ์ผ่านแคมเปญการตลาด อาทิ Meet Double Cities, Meet Sustainable, Convene in Paradise และ ASEAN Rising Trade Show (ART) ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเป็นจุดหมายของการจัดงานไมซ์ ทั้งในระดับประเทศและในระดับพื้นที่ ผ่านการตลาดเนื้อหาเชิงกลยุทธ์ชูสถานที่จัดงาน งานไมซ์ไฮไลท์ สินค้าและบริการไมซ์เด่น โดยสื่อสารการตลาดไมซ์ในต่างประเทศภายใต้แบรนด์ ‘Thailand CONNECT’

ด้านอุตสาหกรรมหลักที่มุ่งเน้น ‘การดึงงานและส่งเสริมธุรกิจไมซ์’ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
กลุ่มที่ 1 อุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและรัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่เดิม ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร (2) อุตสาหกรรมยานยนต์ (3) อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม (4) อุตสาหกรรมพลังงานและ (5) อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ภายใต้แนวคิด ประเทศไทย 4.0 ซึ่งประกอบด้วย (1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ (4) กลุ่มดิจิทัล (5) กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากกลยุทธ์ดังกล่าว ทีเส็บเร่งพัฒนา ‘แผนงานขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยกิจกรรมไมซ์ (MICE Economic Model for Thailand 4.0)’ ร่วมกันกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมไมซ์ โดยริเริ่มจากการเป็นผู้นำดำเนิน ‘โครงการจัดทำปฏิทินกิจกรรมไมซ์ไทย’ เป็นครั้งแรกของประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์การสนับสนุนการจัดงานไมซ์สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของแนวคิดประเทศไทย 4.0 และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างเป็นรูปธรรมที่จะเป็นต้นแบบกลไกการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติจริงได้ในการดึงงานและส่งเสริมธุรกิจไมซ์แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม

ด้านกลยุทธ์ที่ 2 ’การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม’ เพื่อความมั่นคง ทีเส็บวางแนวทางการสร้างประสบการณ์นักเดินทางกลุ่มไมซ์ด้วยนวัตกรรมผ่านการตลาดไมซ์ดิจิตอล (Digital Marketing) เพื่อพัฒนาไมซ์ไทย ภายใต้แนวคิด ‘Thailand SMART MICE’ การใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือการพัฒนาตลาดไมซ์ และสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลในการวางแผนการจัดกิจกรรมไมซ์ของไทยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการงานไมซ์ที่สร้างประสบการณ์น่าประทับใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ร่วมงานทั้งก่อนงานระหว่างงานและหลังงาน เช่น ส่งเสริมผู้จัดงานใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมงาน เช่น Voting System เทคโนโลยีที่ช่วยดึงดูดและเพิ่มความน่าสนใจในการแสดงงาน เทคโนโลยีเสมือนจริงจอภาพที่มีการโต้ตอบกับผู้ใช้งาน หรือการใช้ Virtual Reality เทคโนโลยี Beacon ที่สามารถสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า ตั้งแต่การส่งข้อมูลรายชื่อ ตรวจสอบผู้เข้าร่วมงาน แสดงข้อมูลสินค้าให้กับผู้เข้างานในบริเวณบูธ รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้างาน เช่น การใช้ application หรือ wearable ในการลงทะเบียนเข้างาน เป็นต้น

ด้านกลยุทธ์ที่ 3 ‘การสร้างความเจริญเพื่อมุ่งประโยชน์ส่วนรวมในทุกภาคส่วนของสังคม’ เพื่อความยั่งยืน โดยชูแนวทางหลักเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ ทั้งการพัฒนามาตรฐานเชิงพื้นที่และสถานที่ การสร้างงานใหม่และการยกระดับงานเดิม การพัฒนาสินค้าและบริการผ่านการสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ไทย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรไมซ์มืออาชีพ เพื่อการสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์กระจายสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กิจกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ (Domestic MICE) มีแผนงานเด่น คือ โครงการส่งเสริมการพัฒนาเมืองแห่งไมซ์ โครงการความร่วมมือภายใต้คณะกรรมการประชารัฐด้านท่องเที่ยวและไมซ์ ผ่านการส่งเสริมการตลาดแบรนด์ไมซ์ในประเทศ ‘ประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ’ และเพิ่มการชูโครงการประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ อีกหนึ่งโครงการหลักภายใต้แคมเปญ โดยเป็นโครงการที่ส่งเสริมการเดินทางเข้าเยี่ยมชมและจัดกิจกรรมไมซ์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของประชาชนในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกระตุ้นให้หน่วยงานจัดกิจกรรมไมซ์ในพื้นที่ต่างจังหวัดข้ามภูมิภาค โครงการประชาสัมพันธ์ออนไลน์เพื่อสนับสนุนการจัดงานไมซ์ในประเทศในพื้นที่ชุมชน (Meet in the village) เพื่อกระจายและยกระดับรายได้จากกิจกรรมไมซ์สู่ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Capabilities) มีแผนงานเด่น คือ โครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE Academy) ทั้งในระดับ สถาบันการศึกษา พัฒนาหลักสูตรด้านไมซ์ในเชิงลึก 1 หลักสูตร (Event 101) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา จัดงาน MICE Academy & Career Day เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านไมซ์อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมให้บุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ได้รับการอบรมและรับรองมาตรฐานวิชาชีพในระดับสากลในหลักสูตร CEM-Certified Exhibition Management, CMP – Certified Meeting Professional และขยายความร่วมมือกับสมาคม DMAI – Destination Marketing Association International เป็นต้น โครงการส่งเสริมองค์ความรู้และการตลาดไมซ์เพื่อความยั่งยืน (MICE Sustainability) ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมนำร่องในการส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการไมซ์ และเกษตรกรในการนำผลิตภัณฑ์และผลผลิตเกษตรอินทรีย์ส่งตรงต่อผู้ประกอบการในแนวคิด Farm to Functions เป็นต้น โครงการส่งเสริมมาตรฐานไมซ์ (MICE Standard) ด้านมาตรฐานสากล ผลักดัน TMVS – Thailand MICE Venue Standard ให้ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานระดับอาเซียน (AMVS-ASEAN Mice Venue Standard) และให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดทำมาตรฐานใหม่คือ Food Waste Prevention และขยายการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไมซ์ในการดำเนินการจัดทำมาตรฐานสากล (ISO) และ TMVS ให้มากขึ้น และมีกิจกรรมการมอบเกียรติบัตรรับรองมาตรฐานในวัน MICE Standard Day ในปี 2560 ทีเส็บเสริมแนวทางการพัฒนาพันธกิจขององค์กรอีก 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมบทบาทของทีเส็บในการเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก (Facilitator) ส่งเสริมความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการลดอุปสรรคและพัฒนาปัจจัยเอื้อ เช่น จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนากฎ ระเบียบผ่านกลไกคณะอนุกรรมการประสานงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและบริการอุตสาหกรรมไมซ์ และคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมไมซ์ 2. การพัฒนาสำนักงานภายใต้แนวทาง ‘TCEB SMART BUREAU’ โดยส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Carbon footprint) เช่น การพัฒนาระบบ E-meeting การใช้ระบบ e-document (Paperless) เป็นต้น นอกจากนี้จะริเริ่มโครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรฐาน ISO 22301 เพื่อการพัฒนา

องค์กรอย่างยั่งยืน 3. การส่งเสริมการดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายการประเมินผลด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ภายใต้โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ (Integrity and Transparency Assessment – ITA) โดยตั้งเป้าให้ทีเส็บอยู่ในอันดับที่ 20 (Top 20) จากหน่วยงานรัฐทั้งหมดในประเทศไทย
นอกจากนี้ ทีเส็บนำเทรนด์อุตสาหกรรมไมซ์โลกมาพัฒนากลยุทธ์ แผนงาน และแคมเปญการตลาดในปี 60 ได้แก่ เทรนด์การใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมไมซ์ ในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การวางแผนและการดำเนินการจัดงานไมซ์ เพื่อให้เกิดประสบการณ์สำหรับผู้เข้าร่วมงาน (Technology and Digital Disruption) ด้านเทรนด์ส่งเสริมตลาดการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล มีแนวโน้มการเดินทางธุรกิจและหาเวลาพักผ่อนระหว่างเดินทาง (Business Travel with Pleasure) และเน้นโปรแกรมการเดินทางประชุมส่งเสริมกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม (Bleisure Travel & Sustainable Practice) เทรนด์ตลาดการประชุมนานาชาติ มีแนวโน้มการประชุมนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะมีการประชุมที่แยกเป็นรายภูมิภาคเพิ่มขึ้นและจะมีความถี่ในการประชุมมากขึ้น โดยเทรนด์ตลาดการจัดงานแสดงสินค้าจะมีแนวโน้มในการจัดกิจกรรมที่ครบวงจร ทั้งการประชุม และการแสดงสินค้าและนิทรรศการด้วยกันในงานเดียว และหัวข้อของงานจะสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ด้านงานไฮไลท์ไมซ์ในปีงบประมาณ 2560 แบ่งเป็น 2 งานหลัก คือ 1. งานไมซ์สำคัญที่ทีเส็บให้การสนับสนุน ได้แก่
Nan-shan Life Insurance มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 2,000 คน แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา
>> วันที่ 9-26 กุมภาพันธ์ 2560 เส้นทาง กรุงเทพฯ – หัวหิน และ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่
>> วันที่ 4-9 มีนาคม 2560 เส้นทาง กรุงเทพฯ และ one day trip ไปอยุธยา
Manulife MDRT PEAK Convention 2017 / 3-7 มีนาคม 2560 จัดที่ พัทยา มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 2,000 คน
Organo Unite Asia Convention / 22-26 มีนาคม 2560 จัดที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 2,000 คน
Herbalife Southeast Extravaganza /18-21 พฤษภาคม 2560 จัดที่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 10,000 คน
Infinitus Overseas Training / พฤษภาคม 2560 มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 10,000 คน
งาน Asia Pacific Society of Respirology 2016 / 12-15 พฤศจิกายน 2559 จัดที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 2,000 คน

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.