พ.ร.บ. ป้องกันราคาโอนมีผลบังคับใช้ปี 2562

ในวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้สมควรประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันราคาโอน (Transfer Pricing) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ยื่นเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนต่อกรมสรรพากรสองประเภทดังต่อไปนี้
ประเภทแรก รายงานประจำปี (Disclosure Form) จัดทำเพื่อแสดงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียภาษีกับคู่สัญญาที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกัน นำส่งพร้อมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้
ประเภทที่สอง เอกสารพิสูจน์ราคาโอน (Transfer Pricing Documentation) ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) Master File และ (2) Local File สอดคล้องกับ Action 13 ของโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting หรือ BEPS) นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) โดย Master File จัดเตรียมเพื่ออธิบายภาพรวมการดำเนินธุรกิจของผู้เสียภาษีและบริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศรวมทั้งนโยบายการกำหนดราคาโอนของกลุ่มบริษัททั้งหมด ส่วน Local File จะระบุรายละเอียดการประกอบธุรกิจของผู้เสียภาษีในประเทศไทยและธุรกรรมกับนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยเจ้าพนักงานประเมินมีสิทธิแจ้งให้ผู้เสียภาษียื่นเอกสารพิสูจน์ราคาโอนได้ภายในหกสิบวัน (กรณีการแจ้งให้ยื่นครั้งแรกให้ขยายเวลาได้อีกร้อยยี่สิบวัน) ภายในระยะเวลาห้าปีหลังการยื่นรายงานประจำปีข้างต้น
ทั้งนี้ ทางกรมสรรพากรจะออกกฎกระทรวงเพิ่มเติมเพื่อกำหนดรูปแบบและรายละเอียดของเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนทั้งสองประเภท โดยคาดว่าจะกำหนดให้นำ Master File มาบังคับใช้กรณีมีรายได้สูงกว่า 200 ล้านบาทต่อปีให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ประกอบธุรกิจข้ามชาติ นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวอาจระบุข้อยกเว้นอื่นๆ เช่น ธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบการที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราเดียวกันอีกด้วย
หากผู้เสียภาษีไม่นำส่งเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนหรือนำส่งแต่มีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทต่อเอกสาร ในกรณีที่มีเหตุให้เชื่อจากการพิจารณาเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนว่ามีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน พนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวโดยเปรียบเทียบจากธุรกรรมที่ดำเนินการอย่างอิสระตามหลักราคาตลาด (Arm’s Length Principle) ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาษีเงินได้ต้องชำระเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ คาดว่ากรมสรรพากรจะออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้นำส่ง Country-by-Country (CBC) Report สำหรับกลุ่มธุรกิจข้ามชาติตามข้อตกลงกรอบความร่วมมือ BEPS Inclusive Framework ที่ประเทศไทยเข้าร่วมปีที่แล้ว โดยบริษัทแม่จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลทางการเงินและกิจกรรมของบริษัทในเครือทั้งหมดแยกตามประเทศที่เสียภาษีเงินได้ โดยเจ้าพนักงานฯ สามารถใช้ข้อมูลในรายงาน CBC นี้ในการประเมินเบี้องต้นว่ามีการถ่ายโอนกำไรกันภายในกลุ่มธุรกิจหรือไม่
เนื่องจากการจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนโดยเฉพาะ Master File และ Local File ต้องอาศัยข้อมูลองค์กรจากกลุ่มปฏิบัติงานหลายฝ่าย เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิต การจัดการห่วงโซ่อุปทาน กลยุทธ์การตลาด การวางแผนช่องทางจัดจำหน่าย การควบคุมต้นทุน และการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังต้องทำการวิเคราะห์หาช่วงราคาของธุรกรรมอิสระ (Benchmarking Study) เพื่ออธิบายเหตุผลและหลักการในการตั้งราคาโอนของแต่ละธุรกรรมระหว่างกัน ผู้บริหารจึงควรวางแผนจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับราคาโอนเป็นการล่วงหน้าเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง และมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขปรับปรุงนโยบายการตั้งราคาโอนให้เป็นไปตามหลักราคาตลาดก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า การรอให้เจ้าพนักงานฯ เรียกดูเอกสารเพื่อตรวจสอบก่อนแล้วจึงค่อยหาทางตั้งรับ อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีพอเนื่องจากการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานฯ อาจก่อให้เกิดภาระภาษีที่ต้องชำระโดยไม่ได้คาดหมาย ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมขององค์กรได้
บริษัทดีลอยท์จะจัดงานสัมมนาเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารราคาโอนภายใต้กฎหมายใหม่เร็วๆ นี้

โดย

ดร. กัญชรัตน์ ไทยดำริ

พาร์ทเนอร์ |  บริการด้านภาษีและกฎหมาย |  ดีลอยท์ ประเทศไทย

kthaidamri@deloitte.com

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.