รู้ทันอาการชาบริเวณมือและเท้า จากโรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งสาเหตุหลักของปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ น้ำตาลในเลือดสูงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเลือด ส่งผลให้เส้นประสาทนำไฟฟ้าได้ดี นอกจากนี้โรคเบาหวานยังทำให้เกิดการทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท
ทั้งนี้โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาทในผู้ป่วยเบาหวานมีด้วยกันอยู่ 3 ส่วน ได้แก่
1. เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยเบาหวานโดยผู้ป่วยที่เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม จะมีอาการชา เนื่องจากสูญเสียประสาทรับความรู้สึก เริ่มจากบริเวณปลายนิ้วเท้า และมักจะเกิดขึ้นที่เท้าทั้ง 2 ข้าง ลุกลามไปเรื่อยๆ โดยนอกจากอาการชา ที่เหมือนเป็นเหน็บแล้ว ความรู้สึกจากการสัมผัสอาจลดลงหรือไม่รู้สึกเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจจะปวดเส้นประสาท ซึ่งจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน เหมือนถูกไฟฟ้าช็อต มักจะเกิดขึ้นกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาและเท้า โดยอาการจะเกิดขึ้นบ่อยเฉพาะเวลานอน
2. ความผิดปกติของเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง ได้แก่ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อตา ส่งผลให้สูญเสียระบบการทำงานของกล้ามเนื้อลูกตา และมีอาการกลอกตาไม่ได้ , มองเห็นเป็นภาพซ้อน โดยอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วจะดีขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดอาการขึ้นได้กับ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท โดยอาการที่กล่าวมาข้างต้นจะดีขึ้นได้เองภายใน 2-12 เดือน
3. ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงระบบต่างๆ โดยอาจจะมีอาการ ดังต่อไปนี้
– หลอดอาหาร จะมีการบีบตัวลดลง ทำให้กลืนลำบาก และอาจมีอาการเจ็บหน้าอกลักษณะคล้ายเป็นโรคหัวใจ
– กระเพาะอาหาร การบีบตัวลดลง ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี เป็นผลให้มีอาการแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน มีผลต่อการดูดซึมอาหาร
– ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ทำให้ท้องเสียและท้องผูกเรื้อรังเป็นๆ หายๆ
– ระบบปัสสาวะ เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะเสื่อม ทำให้ไม่รู้สึกปวดปัสสาวะ เพราะการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเสียไป ทำให้ไม่สามารถบีบไล่ปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะได้หมด เกิดปัญหาปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ นำไปสู่การติดเชื้อ นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือปัสสาวะไหลออกโดยไม่รู้ตัว
– ความผิดปกติของหลอดเลือดหรือความผิดปกติของระบบประสาทเป็นผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
ทั้งนี้สาเหตุหลักของปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่ น้ำตาลในเลือดสูงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทางเคมีในเลือด ส่งผลให้เส้นประสาทนำไฟฟ้าได้ไม่ดี นอกจากนี้โรคเบาหวานยังทำให้เกิดการทำลายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาท
การป้องกันรักษาภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน
1. การควบคุมเบาหวานให้ระดับน้ำตาลในอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังได้
2. รับการตรวจปัจจัยเสี่ยงต่างๆในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เช่น ไขมันโคเลสเตอรอล ไขมันไตรกลีเซอไรด์
3. งดการสูบบุหรี่
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน

บทความโดย : แพทย์หญิง วลัยพร เลาหวินิจ เฉพาะทางอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซึม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โทร. 02-836-9999 ต่อ 292

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.