สี่ “O” ของ Open Banking

โดยอิสมาอิล ชาอิบ

ขณะที่ผมกำลังศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อยู่นั้น แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องโอเพ่นซอร์สเป็นที่ถกเถียงกันมาก อาจารย์ของพวกเราที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าความคิดเรื่องโอเพ่นซอร์สน่าสนุก แต่ติดที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับวิถีในการทำธุรกิจได้อย่างไร ในทางกลับกันพวกเรานักเรียนเห็นว่า โอเพ่นซอร์สเป็นแนวคิดที่มีพลัง และมีความเป็นไปได้สูงในการนำไปใช้งาน โอเพ่นซอร์สไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้และฟรีเท่านั้น แต่ยังมอบโอกาสให้เราคืนกลับองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนทั่วโลกจากห้องเรียนเล็ก ๆ ของเราในแอลจีเรียได้อีกด้วย

การถกเถียงกันอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สในขณะนั้น ก็ไม่แตกต่างไปจากการถกเถียงกันเรื่อง Open Banking ในยุโรปและทั่วโลกในปัจจุบัน และตั้งแต่โอเพ่นซอร์สกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นกันทั่วไป ผมก็เชื่อตั้งแต่ตอนนั้นว่า Open Banking จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ปรากฎอยู่ในทุกภาคส่วนของการบริการด้านการเงินในอนาคตเช่นกัน

Open Banking คืออะไร?

Open Banking เป็นรูปแบบการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบกระจายศูนย์ ที่อนุญาตให้ผู้บริโภคและบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธนาคารของตน (ประวัติการทำธุรกรรม, ยอดเงินในบัญชี และอื่น ๆ) กับผู้ให้บริการบุคคลที่สาม และผู้พัฒนาแอปโดยใช้ Application Programming Interfaces (API) ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลูกค้าปลายทางอนุมัติไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

Open Banking จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยผู้ให้บริการอื่นได้ แทนการเข้าใช้งาน Online Interface ของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง โดยแอปเหล่านี้สามารถปรับให้เหมาะกับความชอบและความต้องการเฉพาะบุคคลได้ เช่น เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กอาจเลือกใช้บริการบัญชีออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารของตนเพื่อกระทบยอดใบแจ้งหนี้ ในขณะที่ผู้พิการทางสายตาจะใช้อุปกรณ์ช่วยในเรื่องเสียงเพื่อปรึกษาเรื่องยอดคงเหลือของเขา นอกจากนี้ Open Banking ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ ดังนั้น ด้วยการบูรณาการและการปรับใช้อย่างต่อเนื่อง Open Banking จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถสร้างแอปที่ยืดหยุ่นคล่องตัว สามารถตอบสนองความต้องการด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้

ทำไมต้อง Open Banking?

Open Banking มักจะถูกมองว่าจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม มีการนำ Open Banking ไปใช้งานหรือกำลังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกันกับผูู้กำกับดูแลกฎระเบียบในกว่า 47 ประเทศทั่วโลก เช่น ใน 28 ประเทศในสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเปิด API ให้ธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาใช้งานได้ภายใต้คำสั่งของกฎระเบียบใหม่ในการชำระเงิน (Payment Services Directive2 – PSD2) ที่มีผลบังคับใช้ทั่วทั้งสหภาพยุโรป

นอกจากการใช้ระบบ Open Banking จะทำให้สถาบันการเงินสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้แล้ว สถาบันการเงินจะได้รับประโยชน์จาก Open Banking ในสองกรณีต่อไปนี้
1. สร้างโอกาสให้กับธนาคาร ทำให้กระบวนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ปรับขยายได้ คู่ขนานไปกับความร่วมมือกับพันธมิตรนอกองค์กร ซึ่งพันธมิตรส่วนหนึ่งจะสามารถช่วยให้ธนาคาร นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น มอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า และทำให้ธนาคาร สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากรูปแบบการบริการใหม่ ๆ อีกด้วย

2. ส่งเสริมประสิทธิภาพภายในองค์กร ด้วยการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล และการทบทวนขั้นตอนการทำงานที่มีอยู่เดิม ทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของผู้ให้บริการภายนอกองค์กรและผู้เชี่ยวชาญได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินงานได้มากขึ้น

ในตลาดที่กำลังเติบโต ความสามารถในการสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องของสถาบันทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญมาก บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นด้านฟินเทค และสถาบันการเงินรูปแบบใหม่ ต่างนำมาซึ่งแนวคิดใหม่ พร้อมกับความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารก็กำลังกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้วย การก้าวล้ำนำหน้าจึงถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

แล้วอะไรคือ สี่ “O” ของ Open Banking

อาจกล่าวได้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จยังอยู่อีกยาวไกลสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นสู่อนาคตที่เปิดกว้าง ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายด้านการออกแบบ API ที่เป็นระบบเปิด หรือการสร้าง ecosystem ให้กับผู้ให้บริการภายนอกที่เกี่ยวข้องในการยอมรับการใช้งาน API เหล่านั้น ดังนั้นการเริ่มดำเนินการระบบ Open Banking จึงอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก

เราได้ระบุหลักการสี่ข้อที่น่าจะช่วยให้การใช้ระบบ Open Banking ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งหลักการเหล่านี้ได้กลายเป็นคำจำกัดความซึ่งเรียกว่า Four Os ของระบบ Open Banking

• Open Innovation – นวัตกรรมเปิด: เป้าหมายของการใช้ระบบ Open Banking คือการผลักดันนวัตกรรม สถาบันการเงินที่มีการใช้งาน API ควรจะต้องมีการคิดจากนอกเข้าใน และกำหนดให้การบริการของธนาคารมอบประสบการณ์ที่ดี เป็นมิตรและเปิดกว้างกับลูกค้า ซึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และไม่เลือกปฏิบัติกับลูกค้ารายเล็ก ๆ เราเคยเห็นโครงการ Open Banking-as-a-Compliance ล้มเหลวมาแล้ว เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงมุมมองของผู้ให้บริการอื่น ๆ

• Open Standard – มาตรฐานเปิด : การนำมาตรฐานเปิดมาใช้ เป็นการแก้ไขความท้าทายที่นักพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ยอมรับโซลูชันที่เหมาะสมจากภายนอกเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภายในองค์กร Open Banking Project (OBP) ที่รวมถึงคอมมิวนิตี้ของนักพัฒนาด้านฟินเทคทั่วโลกของเร้ดแฮทมากกว่า 11,000 ราย ได้ช่วยให้สถาบันทางการเงิน 40 แห่งใช้ APIs ได้อย่างปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรฐานของท้องถิ่นต่าง ๆ และสร้างระบบนิเวศที่รุ่งเรือง ช่วยให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ประหยัดเวลา และสามารถสร้าง APIs ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการศึกษาจากวิธีการและกรณีต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว อันจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ความเป็น Open Banking รวดเร็วยิ่งขึ้น

• Open APIs – APIs แบบเปิด: APIs แบบเปิดไม่ได้หมายถึง API สาธารณะ แต่เป็น APIs ที่สามารถเปิดให้กับบุคคลที่สามใช้งานได้ในลักษณะที่ควบคุมได้ และบุคคลที่สามควรใช้ APIs ของธนาคารได้โดยไม่ต้องถูกบังคับให้ผ่านหลายขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพื่อสนับสนุนการทดลองนี้ ลูกค้าของเร้ดแฮทหลายรายได้ลองใช้สภาพแวดล้อม sandbox ของ TESOBE (Technical Solutions Berlin), กิจกรรมแฮคคาทอน และรูปแบบการทดลองอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

• โอเพ่นซอร์ส – ระบบเปิด: การเลือกใช้โอเพ่นซอร์สสำหรับองค์กร เช่นเร้ดแฮท อาจหมายถึงว่าไม่มีการจำกัดการใช้เทคโนโลยีจากผู้ขายคนใดคนหนึ่ง (no vendor lock-in) และมีการควบคุมการสร้างส่วนประกอบของระบบ Open Banking อย่างสร้างสรรค์ การใช้และบูรณาการองค์ประกอบของโอเพ่นซอร์สสำหรับระบบ Open Banking จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ได้ทันทีที่ต้องการ

บทสรุป

เมื่อเราติดขัดเรื่องใดก็ตาม เราพยายามที่จะนำหลักการเหล่านี้มาใช้ ซึ่งเป็นหลักการที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังในการช่วยให้สถาบันการเงินเริ่มโครงการ Open Banking และเร้ดแฮทตั้งใจที่จะรวบรวมหลักการเหล่านี้ไว้ในซอฟต์แวร์ Open Bank Project ของเร้ดแฮท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เร้ดแฮทได้เพิ่มโซลูชันซอฟต์แวร์บางตัวเข้าไปใน OBP เช่น Red Hat 3scale เพื่อการจัดการ API, Red Hat Fuse เพื่อการทำงานร่วมกับระบบเดิมของธนาคาร และ Red Hat OpenShift เพื่อการปรับใช้แบบไฮบริด การที่เครื่องมือโอเพ่นซอร์สเหล่านี้มาอยู่รวมกัน จะช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานได้มากขึ้น และช่วยให้หลักการ Four Os พร้อมใช้สำหรับธนาคาร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสามารถนำความคิดของพวกเขาไปใช้จริงได้เร็วขึ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน
อิสมาอิล คาลิบ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ TESOBE – Technical Solutions Berlin ผู้ริเริ่มโครงการ Open Bank ซึ่งเป็นโซลูชั่น API โอเพนซอร์สชั้นนำสำหรับสถาบันการเงิน อิสมาอิลสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนีซ ประเทศฝรั่งเศส ด้วยปริญญาโทสาขาไอที หลงใหลในบทบาทของฟินเทคที่มีต่อสังคม เขาเป็นแกนนำในการสนับสนุนระบบ Open Banking เขาปรากฏตัวในรายการนวัตกรรมของธนาคาร 44 แห่งที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านฟินเทค เป็นชาวแอลจีเรียและอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.