กระทรวงอุตสาหกรรม ปั้นนักออกแบบรุ่นใหม่สู่เส้นทางผู้ประกอบการ นำ 5 คอลเลคชั่นจากเวทีประกวด Creative Textiles Award 2016 รุกตลาดฮ่องกง

DSC_0327

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สานต่อ นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 สร้างนักออกแบบรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นและพร้อมก้าวเข้าสู่เส้นทางผู้ประกอบการ (Young Design Entrepreneur) ดึง 5 ผลงานจากเวที Creative Textiles Award 2016 สู่การขายจริงในงานเซ็นเตอร์สเตจ (CENTRE STAGE) งานแสดงและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นระดับสากล ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและรักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ระยะที่ 3 สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษและสิ่งทอเทคนิค) ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมสู่การสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม คือ
1. กิจกรรมศึกษาแนวโน้มของนวัตกรรมการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
2. กิจกรรมพัฒนาเส้นใยจากวัตถุดิบภาคการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Funtional Textiles) และสิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) โดยพัฒนาจาก ไผ่ มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน กัญชง สับปะรด เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่วิจัยจากธรรมชาติ และพัฒนาจากเทคโนโลยี
3.กิจกรรมการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ (Creative Textiles Award หรือ CTA) ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 100,000 บาท พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ออกเปิดตลาดต่างประเทศ โดยการประกวดในปี 2559 นี้ได้ใช้แนวคิดว่า “New Sustainability New Attitude” หมายถึง “คน” คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง และสร้างจิตสำนึกในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
ผลจากกิจกรรมนี้ สถาบันฯ ได้คัดเลือกผลงานที่มีแนวคิด ลงตัว มีความสวยงามและมีความเป็นไปได้ในการขายจริงรวม 5 คอลเลคชั่น โดยเป็นผลงานการออกแบบจาก 1.นายกฤษดา รัตนางกูร 2.นายวรากร เพ็ญศรีนุกูร 3.นายศตพล แจ่มศรี 4.นางสาวบุรฉัตร ตั้งจิตอารี และ 5.นายพีรดนย์ ก้อนทอง เพื่อนำไปจัดแสดงในงาน CENTRE STAGE ซึ่งเป็นเวทีแสดงผลงานแฟชั่นจากนักออกแบบรุ่นใหม่และแบรนด์ดัง ที่มีผู้สนใจจากทั่วโลกเดินทางเข้าชมเป็นจำนวนมาก โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 10 กันยายน 2559 ณ Hong Kong Convention and Exhibition Centre เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด สถาบันฯ ได้คัดเลือก นางสาวบุรฉัตร ตั้งจิตอารี นักศึกษาแฟชั่น สถาบันบุนกะแฟชั่นอคาเดมี่ โดยได้รับทุนเดินทางเข้าร่วมงาน เนื่องจากเป็นผลงานที่มีแนวคิดชัดเจนและความพร้อมด้านการตลาดสูงสุด พร้อมนำคอลเลคชั่น Darwin’s Closet : The Struggle for Existence – “เมื่อเสื้อผ้าต้องวิวัฒนาการตัวเองเพื่อความอยู่รอด” ร่วมจัดแสดง สำหรับผลงานดังกล่าว ได้รับแรงบันดาลใจจาก เสื้อผ้ามือสองที่เปรียบเสมือนเป็นขยะ โดยนำมาพัฒนาออกแบบตัดเย็บและสร้างเป็นชิ้นงานใหม่ที่สวยงามและมีความโดดเด่น พร้อมจำหน่ายในตลาดสากลครั้งแรกภายใต้แบรนด์ Trouble Maker โดยการจัดแสดงผลงานทั้ง 5 คอลเลคชั่นในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสานต่อความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC)
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมประกวดงานออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Textiles Award นับเป็นการสร้างโอกาสที่หลากหลาย และเป็นการเริ่มต้น (Start Up) ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้มีโอกาสเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การคิดต้นทุน จนถึงกระบวนการขาย โดยตั้งเป้าผลักดันนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น รวมทั้งเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ (Young Design Entrepreneur) ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มตัว
สำหรับมูลค่าการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยและฮ่องกง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) นั้น มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 252.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ปี 2558 มีมูลค่า 250.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 0.21 โดยปัจจุบันฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโครงการได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือ ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.thaitextile.org หรือ https://www.facebook.com/CreativeTextilesAward

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.