กลุ่มทรู ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศผลรางวัลประกวดภาพถ่าย“สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ”ประจำปี 2558

244-2

กลุ่มทรู ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศผลรางวัลประกวดภาพถ่าย“สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ”ประจำปี 2558 โดยภาพยอดเยี่ยม “เหยี่ยวรุ้งจับงูเขียวกิน” รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

กลุ่มทรู ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศผลรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ในโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2558 โดย “เหยี่ยวรุ้งจับงูเขียวกิน” ได้รางวัลภาพยอดเยี่ยมประเภทสัตว์ป่า รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และภาพ “ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ”ได้รางวัลภาพยอดเยี่ยมประเภทป่าไม้ รับถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยในปีนี้มีภาพถ่ายส่งเข้าประกวดกว่า 2,172 ภาพ

นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า พันธกิจสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คือการดูแลและปกป้องทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติของประเทศในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ให้คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ของลูกหลานในอนาคต โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมและรณรงค์ให้คนไทยได้เข้าไปสัมผัสถึงความสวยงาม ความสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่า ที่มีอยู่ในอุทยานแห่งชาติทั่วประทศ โดยผลงานภาพถ่ายทุกชิ้นไม่เพียงบันทึกและถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยต่อไป

ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และรองประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ปีนี้นับเป็นที่ 21 ที่กลุ่มทรู และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกปีจะได้เห็นภาพความงดงามและความสมบูรณ์ของธรรมชาติจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศผ่านภาพถ่าย สะท้อนให้เห็นคุณค่าและสื่อความหมายในเชิงอนุรักษ์อย่างมหาศาล ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคน ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติแล้ว ยังเป็นผู้ร่วมปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้นในใจของทุกคนที่ได้เห็นภาพเหล่านั้นด้วย

ในปีนี้ มีผู้สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดทั้งในระดับบุคคลทั่วไปและระดับนิสิตนักศึกษา รวม 495 คน มีภาพส่งเข้าประกวด 2,172 ภาพ และมีภาพที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 30 ภาพ ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทต่างๆ มีดังนี้

ระดับบุคคลทั่วไป
1.ประเภทสัตว์ป่า
รางวัลยอดเยี่ยม (พิจารณาจากภาพชนะรางวัลที่ 1 ของภาพสัตว์ป่า 3 ประเภทย่อย) รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ภาพ “เหยี่ยวรุ้งจับงูเขียวกิน” โดย นายปวริศร เฮงวัชรไพบูลย์ ซึ่งภาพชนะรางวัลที่ 1 ใน 3 ประเภทย่อย มีดังนี้
•รางวัลที่ 1 ประเภทภาพนก ได้แก่ ภาพ “เหยี่ยวรุ้งจับงูเขียวกิน” โดย นายปวริศร เฮงวัชรไพบูลย์
•รางวัลที่ 1 ประเภทภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ภาพ “ประลองกำลัง” โดย นายสิทธิบดี ศิวิลัย
•รางวัลที่ 1 ประเภทภาพสัตว์อื่นๆ ได้แก่ ภาพ “นักล่าครีบดำ” โดย นายณัฐพล พลบำรุงวงศ์

2.ประเภทป่าไม้
รางวัลยอดเยี่ยม (พิจารณาจากภาพชนะรางวัลที่ 1 ของภาพป่าไม้ 2 ประเภทย่อย) รับถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้แก่ ภาพ“ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ” โดย นายบัณฑูร พานแก้ว ซึ่งภาพชนะรางวัลที่ 1 ใน 2 ประเภทย่อย มีดังนี้
•รางวัลที่ 1 ประเภทภาพ Landscape ได้แก่ ภาพ “ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ” โดย นายบัณฑูร พานแก้ว
•รางวัลที่ 1 ประเภทภาพ Marco ได้แก่ ภาพ “นางงามดอกเห็ด” โดย นายทิวากร วันสิริมงคล

ผู้ชนะรางวัลที่ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัลจากกลุ่มทรู 30,000 บาท และสิทธิ์ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ผู้ชนะรางวัลยอดเยี่ยม ได้รับเงินรางวัลจากกลุ่มทรู เพิ่มอีก 20,000 บาท รวมเป็น 50,000 บาท

ระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา
1.ประเภทสัตว์ป่า
รางวัลที่ 1 ได้แก่ ภาพ “ย่อง” โดย นายวริทธิ์ นีละคุปต์ จากโรงเรียนทิวไผ่งาม
2.ประเภทป่าไม้
รางวัลที่ 1 ได้แก่ ภาพ “ตะวัน ป่าไม้ เมฆหมอก” โดย นายธีรพันธ์ ทองกรณ์ จากโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งนิสิต นักศึกษาที่ชนะรางวัลที่ 1 ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศจากกลุ่มทรู พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท และสิทธิ์ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถชมผลงานที่ชนะการประกวดของปีล่าสุด ผ่านแอพพลิเคชั่น “True Photo Contest” คลังภาพออนไลน์ที่รวบรวมผลงานที่ชนะการประกวดโครงการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” กว่า 350 ผลงาน ในรอบ 21 ปี ตั้งแต่ปี 2538 – 2558 สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ดังนี้
•สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เพียงค้นหาคำว่า “True Photo Contest” ใน App Store และดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น
•สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เพียงค้นหาคำว่า “True Photo Contest” ใน Google Play Store และดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น

เกี่ยวกับโครงการประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ”
โครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ ผ่านการประกวดภาพถ่าย“สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ”อยู่ภายใต้โครงการทรูปลูกปัญญา ซึ่งมุ่งเน้นปลูกความรู้ ปลูกความดี ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มทรู ได้ริเริ่มการประกวดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2538 ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 21 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนไทยหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ระบบนิเวศน์ ตลอดจนสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ พร้อมนำความสวยงามและความสมบูรณ์เหล่านั้นถ่ายทอดผ่านทางภาพถ่าย ให้คนไทยได้ชื่นชมจนเกิดความรักธรรมชาติ และพร้อมที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป นอกจากนี้ กลุ่มทรู ยังร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิ การอบรมให้ความรู้เรื่องการถ่ายภาพธรรมชาติและสัตว์ป่า ให้กับนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจ กิจกรรม Road Show ให้ความรู้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาลดูนกในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การจัดทำหนังสือภาพและปฏิทิน ซึ่งมาจากการรวบรวมผลงานภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี โดยได้จัดทำ Facebook และ Fanpage ในชื่อ True Photo Contest เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายใต้โครงการอีกด้วย

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.