คอร์น เฟอร์รี่ เผย นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิก เห็นพ้องผู้นำองค์กรส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทันกับอนาคต

การศึกษาเรื่อง “ผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง” ชี้ว่ามีผู้นำไม่ถึง 2 ใน 10 ที่มีทักษะจำเป็น เพื่อจะนำองค์กรให้รับมือกับความท้าทายในอนาคต
การศึกษาครั้งสำคัญโดย คอร์น เฟอร์รี่ (รหัสในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก: KFY) ซึ่งดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเกือบ 800 รายและทำการวิเคราะห์โดยละเอียดกับผู้นำองค์กรธุรกิจมากกว่า 150,000 ราย รายงานผลว่า ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมสำหรับการเตรียมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

ผลสำรวจ “ผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง (The Self-Disruptive Leader*)” โดย คอร์น เฟอร์รี่ ได้สำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนทั่วโลกจำนวน 795 คน ซึ่งผลปรากฏว่า นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 2 ใน 3 (69%) ระบุว่าผู้นำองค์กรธุรกิจเอกชนในปัจจุบันยัง “ไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอ” สำหรับธุรกิจในอนาคต
ผลการวิเคราะห์ที่ได้มีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้นำองค์กรมีความสำคัญต่อนักลงทุน ซึ่งไม่เฉพาะในเอเชียแปซิฟิก แต่รวมถึงทั่วโลก โดยนักลงทุนกว่า 78% ยืนยันว่าผู้บริหารระดับสูงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการตัดสินใจลงทุนของบริษัท และนักลงทุนกว่า 83% อ้างว่า ผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถโดดเด่นยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการสร้างความสำเร็จขององค์กรในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

นักลงทุนทั่วโลกต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของการสร้างผู้นำที่พร้อมสำหรับอนาคต โดยนักลงทุนราว 2 ใน 3 (66%) กล่าวว่า พวกเขาให้คุณค่ากับวิสัยทัศน์และการเดินหน้าสู่เป้าหมายในอนาคตมากกว่าประสิทธิภาพการทำงานในอดีต และ 69% ระบุว่าความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจะยิ่งทำให้ภาวะผู้นำทวีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ในการศึกษาหัวข้อ “ผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง (The Self-Disruptive Leader)” โดย คอร์น เฟอร์รี่ (และข้อมูลการให้เหตุผลเพิ่มเติมจากนักลงทุน) ได้มีการสอบถามข้อมูลอย่างละเอียดจากผู้นำองค์กรธุรกิจจำนวน 150,000 รายทั่วโลก ผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังน่าวิตกกังวล กล่าวคือ การวิเคราะห์เผยให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยทั่วโลก รวมถึงเอเชียแปซิฟิก มีผู้บริหารเพียง 15% เท่านั้น ที่มีคุณสมบัติของผู้นำที่ดีเยี่ยมสำหรับโลกธุรกิจที่ผันผวนอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้

ดร. มานะ โลหะเทพานนท์ กรรมการผู้จัดการ คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทย กล่าวว่า“บริษัทต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบ่มเพาะผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งในการอุดช่องว่างของภาวะผู้นำนั้น ธุรกิจต่าง ๆ มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องปฏิวัติแนวทางการฝึกอบรม ยกระดับทักษะของผู้จัดการระดับกลางที่มีศักยภาพ และสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมพนักงานทุกระดับให้กระตือรือร้นต่อการแข่งขันและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่”

จากการศึกษาเรื่อง “ผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลง (The Self-Disruptive Leader)” ทำให้ทราบว่า เราจำเป็นต้องมีต้นแบบใหม่ของภาวะผู้นำแห่งอนาคต เมื่อพิจารณาต่อยอดจากคุณสมบัติของภาวะผู้นำในปัจจุบันที่ต้องมีความฉับไว ทันต่อโลกยุคดิจิทัล และมีความสามารถที่ครอบคลุม ผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงยังต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตในด้านต่าง ๆ อีกด้วย นั่นคือ ADAPT อันได้แก่ Anticipate (การคาดการณ์), Drive (การขับเคลื่อน), Accelerate (การกระตุ้น), Partner (พันธมิตร) และ Trust (ความเชื่อมั่น)

“ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เหล่าผู้นำต่างถูกสอนว่า การควบคุม ความต่อเนื่อง และการปิดช่องโหว่ให้สมบูรณ์ คือหลักการของภาวะผู้นำทางธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบพลิกฝ่ามือที่เกิดขึ้นกับสภาพธุรกิจทั่วโลกทำให้ไม่มีแบบแผนของความสำเร็จที่ตายตัวอีกต่อไป อีกต่อไป” เดนนิส บัลซ์ลีย์ นักปฏิบัติงานฝ่าย Global Solution Leader For Leadership Development ของคอร์น เฟอร์รี่ และผู้ร่วมผลิตเอกสารรายงานฉบับใหม่ The Self-Disruptive Leader กล่าว

งานศึกษาให้ข้อเสนอแนะว่า แรงผลักดันที่ก่อให้เกดการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน ในด้านเทคโนโลยี โลกาภิวัฒน์ ประชากร และพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน กำลังเผยให้เห็นถึงข้อจำกัดของคุณสมบัติของผู้นำแบบเดิมๆ ที่สืบทอดกันมาทั่วโลก

“ในขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน บรรดาคู่แข่งธุรกิจก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตเช่นกัน ผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ภายใต้สภาพการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่ผู้นำธุรกิจทุกรายจะพร้อมสำหรับความท้าทายนี้” ดร. มานะ โลหะเทพานนท์ กล่าวปิดท้าย

ข้อมูลเปรียบเทียบของตลาดต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิก

● ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินเดีย มีสัดส่วนผู้นำที่ปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงสูงสุด โดยมีสัดส่วนสูงสุดทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยสัดส่วนผู้นำที่พร้อมสำหรับอนาคตสูงถึง 17% ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีทักษะในด้าน ADAPT ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
● นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนผู้นำที่พร้อมสำหรับอนาคต มากที่สุดคือที่ประเทศจีน โดยนักลงทุนกว่า 82% กล่าวว่าผู้นำที่มีแนวคิดแบบเก่านั้นไม่เหมาะสมกับโลกอนาคต เช่นเดียวกับนักลงทุนในญี่ปุ่นที่วิตกกังวลมากไม่ต่างกัน (80%) ขณะเดียวกัน นักลงทุนในฮ่องกงและสิงคโปร์วิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะผู้นำในปัจจุบันน้อยที่สุด โดยราวครึ่งหนึ่งกล่าวว่า ผู้นำยังไม่พร้อมสำหรับอนาคต (54% และ 51% ตามลำดับ)
● นักลงทุนทั่วเอเชียแปซิฟิกเห็นว่า ผู้ที่มีความสามารถถือเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้น โดยเฉพาะในออสเตรเลีย ซึ่งนักลงทุนกว่า 92% กล่าวว่า ซีอีโอมีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่บริษัทจะตัดสินใจลงทุน ส่วนนักลงทุนชาวจีนพิจารณาถึงปัจจัยนี้น้อยที่สุดในภูมิภาค โดยมี 70% ระบุว่าซีอีโอมีความสำคัญมาก
● นักลงทุนในเอเชียแปซิฟิกมีความตระหนักร่วมกันเกือบเป็นเอกฉันท์ถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์นี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ทั้งในจีน (96%) อินโดนีเซีย (91%) สิงคโปร์ (91%) และอินเดีย (90%) เชื่อว่าองค์กรต่าง ๆ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
● ความต้องการผู้นำที่พร้อมสำหรับอนาคตแทบจะเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับตลาดบางแห่ง โดยนักลงทุนในฮ่องกง (66%) และสิงคโปร์ (69%) มากกว่า 2 ใน 3 ให้คุณค่ากับวิสัยทัศน์และการเดินหน้าสู่เป้าหมายแห่งอนาคตมากกว่าประสิทธิภาพการทำงานในอดีต โดยมากที่สุดคือญี่ปุ่น (78%) มีเพียงอินโดนีเซียที่ต้านกระแสและเป็นตลาดแห่งเดียวในภูมิภาคที่นักลงทุนน้อยกว่าครึ่ง (46%) ให้คุณค่ากับวิสัยทัศน์มากกว่าประสิทธิภาพการทำงานในอดีต
● นักลงทุนทั่วเอเชียแปซิฟิกตระหนักว่า ความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเพิ่มความต้องการผู้นำที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอันใกล้ โดยนักลงทุนในมาเลเซียเน้นย้ำเรื่องนี้มากที่สุด กว่า 77% กล่าวว่าความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ภาวะผู้นำทวีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยออสเตรเลียซึ่งมีนักลงทุนมากเป็นอันดับ 2 (76%) ที่เน้นย้ำเรื่องนี้ กระนั้น ในภูมิภาคนี้ยังมีตลาดบางแห่งที่สงสัยต่อแนวคิดนี้ โดยนักลงทุนในอินเดียและอินโดนีเซียตระหนักถึงความสำคัญของภาวะผู้นำน้อยที่สุด โดยมีมากกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อย (54%) ที่กล่าวว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.