บทสัมภาษณ์ exclusive อ.ดร.พนิดา เรณูมาลย์ บทบาทและการทำงานศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี

ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี บทบาทและการทำงานจะเน้นให้บริการด้านการวิจัย และบริการวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร และการบริการวิชาการเชิงบูรณาการกับการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย ฉบับนี้พามาเจาะลึกสัมภาษณ์แบบ exclusive กับอาจารย์ ดร.พนิดา เรณูมาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. ปราจีนบุรี เกี่ยวกับทิศทางของศูนย์วิจัยฯ ทั้งเรื่องการจัดหลักสูตรอบรม การให้บริการวิชาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน รวมถึงงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาด้านอุตสาหกรรมเกษตร ว่าในปีนี้จะเป็นอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย
อาจารย์ ดร.พนิดา เล่าถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร มียุทธศาสตร์การวิจัยที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยและบริการวิชาการด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่มีคุณภาพให้แก่สังคม โดยหน้าที่ของศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรด้านงานวิจัยที่มีบทบาทต่อบุคลากรและนักวิจัยภายในคณะเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานวิชาการทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ส่วนกิจกรรมด้านงานบริการวิชาการมีนโยบายการให้บริการวิชาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสังคม อย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของคณะฯ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านบริการวิชาการ “จะมุ่งเน้นการจัดบริการวิชาการที่บูรณาการกับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมเกษตร”
กลุ่มเป้าหมายศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร เน้นการให้บริการวิชาการให้แก่ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้สนใจทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง อีกทั้งศูนย์วิจัยฯ ยังเป็นสื่อกลางในการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.พนิดา ยังให้ความสำคัญใน “การดำเนินงานทั้งเชิงรับและเชิงรุกในการเข้าถึงปัญหาและความต้องการของผู้ขอรับบริการ โดยเน้นงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาด้านอุตสาหกรรมเกษตร และการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบภายในท้องถิ่น” อาศัยกระบวนการพัฒนาทักษะด้านงานวิจัยและเพิ่มพูนความรู้ของนักวิจัยได้เต็มศักยภาพ จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของผู้ขอรับบริการได้อย่างแท้จริง
ทิศทางในการบริหารจัดการศูนย์ฯ เน้นหนักไปที่กลยุทธ์ที่เป็นเชิงรุกคือ การไปรับโจทย์วิจัยจากหน่วยงานรัฐบาล อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น ยิ่งในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งที่ใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กิจกรรมให้เป็นที่รู้จัก เช่น เว็บไซต์ศูนย์วิจัยฯ Facebook ,YouTube และการจัดทำข้อมูลใน QR code เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวางและให้เป็นรู้จักได้ ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี สามารถตอบโจทย์ให้กับชุมชน ทั้งหลักสูตรการฝึกอบรม ให้บริการวิจัย และบริการวิชาการ ด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาได้ตรงกับความต้องการของผู้ขอรับบริการซึ่งในปีที่แล้วศูนย์วิจัยฯ ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ ดร.พนิดา กล่าวท้ายที่สุด บุคคลทั่วไปสนใจในหลักสูตรสามารถสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 037-217300 ต่อ 7938, 7932, 7933, 7934
ขวัญฤทัย ข่าว -ภาพ

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.