พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

S__28811281

จากตัวเลขการสำรวจพื้นที่ป่า ของกรมป่าไม้ เมื่อปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่เพียง 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.62 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งลดลงกว่าตัวเลขข้อมูลในปี 2551 ถึง 5 ล้านไร่ ทำให้รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน โดยการประกาศมาตรการ “ทวงคืนผืนป่า” และบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ
นายชลธิศ กล่าวว่า พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบาย “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลอย่างเข้มข้น ซึ่งนโยบาย “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”ประกอบด้วย หลักการที่เป็นหนึ่งเดียวในการพลิกฟื้นผืนป่า 5 มาตรการหลักในการดำเนินงาน และ 5 วิธีการปฏิบัติงาน หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่านโยบาย 1 : 5 : 5 ที่ได้รับมอบมานั้น มีความสอดคล้องและสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและยังสามารถนำมาต่อยอดในการกำหนดนโยบายของกรมป่าไม้ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่ง 5 มาตรการหลักในการดำเนินงาน มีดังนี้
1. การสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆเพื่อให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2559 กรมป่าไม้ได้กำหนดแผนงานอบรมประชาสัมพันธ์ อาทิเช่น การอบรมราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แก่ชุมชนไปแล้ว 23 รุ่น การอบรมเครือข่ายป่าชุมชนกว่า 500 หมู่บ้าน การฝึกอบรมหน่วยปฏิบัติการพิเศษหน่วยน้ำผึ้ง (เจ้าหน้าที่ผู้หญิง) เพื่อการตรวจค้นและปฏิบัติการ การอบรมหลักสูตรเสนารักษ์ป่าไม้ ที่จะดำเนินการในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ เป็นต้น

2. การแก้ไขปัญหาแนวเขตพื้นที่ทับซ้อน ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้ร่วมกับคณะกรรมการเทคนิคปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4,000 ซึ่งมีรองปลัดกระทรวง ทส. (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) เป็นประธาน เพื่อให้อนุกรรมการในระดับต่างๆ นำไปใช้ในการดำเนินการ พร้อมทั้งได้ส่งแนวเขตที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง ที่ดินหวงห้ามในราชการกรมป่าไม้ และพื้นที่ที่มีภาระผูกพันอื่น ๆ ของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้คณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐของทุกส่วนราชการ ให้คณะอนุกรรมการเทคนิคฯพิจารณา ก่อนที่จะนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่ระดับจังหวัดดำเนิน การแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่กำหนดต่อไป

3. การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้มีอิทธิพล เพื่อให้สามารถคุ้มครองพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่จำนวน 102 ล้านไร่ให้คงอยู่ พร้อมทั้งติดตามผู้กระทำผิดและดำเนินคดีกับผู้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 หน่วยงานในสังกัดของ ทส. ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสามารถนำผืนป่าที่ถูกบุกรุกจากนายทุนและผู้มีอิทธิพลกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติได้แล้วกว่า 340,000 ไร่ และมีการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่าไปแล้วมากกว่า 13,000 คดี
4. การผ่อนผันกับชุมชนและประชาชนผู้ยากไร้ เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและได้รับความเดือดร้อนจากการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอย่างไม่ถูกกฎหมายมาเป็นเวลาช้านานโดยกำหนดเป็นแผนในโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล (คทช.) ซึ่งดำเนินการไปแล้วในจังหวัดเชียงใหม่ อุทัยธานี และล่าสุดที่อุดรธานี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยกรมป่าไม้ได้วางเป้าหมายในการจัดหาพื้นที่ (ปี 2558 – 2559) รวม 340,413 ไร่ ให้แก่ชุมชนรอบพื้นที่ป่า 82 พื้นที่47 จังหวัดและขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดกรองตามระเบียบของคณะกรรมการจัดหาที่ดินและ 5.การเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะพื้นที่สูงชัน ต้องไม่ให้มีการบุกรุกซ้ำอีก เพื่อให้ป่าได้ฟื้นตัว ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วจำนวน 6,000 ไร่ และล่าสุดได้เริ่มโครงการ แม่แจ่ม Model เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่สูงชัน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้หลักการแก้ไขปัญหาที่ดินตามนโยบายรัฐบาลแบบประชารัฐ นำพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกมาพลิกฟื้นให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งจัดระเบียบชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ แบ่งปันการใช้ประโยชน์ที่ดินและป่าไม้ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการปฏิบัติตามมาตรการหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 5 วิธีการปฏิบัติงานควบคู่กันไป ได้แก่ (1) แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้อย่างชัดเจน และป้องกันรักษาพื้นที่ไม้ 102 ล้านไร่ มิให้เกิดการถูกบุกรุกซ้ำ (2) ฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ยึดคืนมาให้กลับคืนเป็นป่าที่สมบูรณ์โดยเร็ว (3) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้จากป่าปลูก (4) ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ถือเป็นสินทรัพย์ และสามารถตัดขายได้ (ธนาคารต้นไม้) และ (5) ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่หน่วยงานราชการและที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งกรมป่าไม้ได้ปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว 50,000 ไร่ และได้กำหนดแผนงานส่งเสริมการปลูกป่าเชิงพาณิชย์ให้ได้ 160,000 ไร่ ภายในปี 2560 รวมทั้งได้แจกจ่ายกล้าไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สัก พะยูง ชิงชัน จำนวน 30 ล้านกล้า ให้แก่ราษฎร เพื่อการออมและเป็นทรัพย์สินตัดขายได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่หน่วยราชการ ริมถนนทางหลวง ที่สาธารณประโยชน์ อีกจำนวน 59,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายดำเนินการให้ได้ 137,100 ไร่

“นอกจากภารกิจดูแลป่าในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้จำนวน 70 ล้านไร่แล้ว ยังมีภารกิจเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศให้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยกลไกที่หลากหลายและนโยบายที่เข้มแข็ง รวมทั้งวิธีการดำเนินงานแก้ไขข้อกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยได้ผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชน และการแก้ไขพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ให้คนอยู่กับป่าได้และช่วยกันดูแลป่าอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันมีคนจำนวนมากถึง 12,500 หมู่บ้านอาศัยอยู่ในป่า นอกจากนั้นยังส่งเสริมอุตสาหกรรมป่าไม้จากพื้นที่ป่าปลูก เพื่อลดการใช้ไม้จากป่าธรรมชาติ และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาล เอกชน ประชาชน มีความรับผิดชอบต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งหากมีการกำหนดกติการ่วมกันอย่างสมดุลและสอดรับกับนโยบาย “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” การเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศจะเห็นเป็นรูปธรรม ถือเป็นเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศในช่วง 20 ปีนับจากนี้ ผมเชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างแท้จริงและยั่งยืน” นายชลธิศ กล่าว

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.