สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เดินหน้า ‘Excellent Model School’ ดึง 14 บริษัทชั้นนำ จับคู่ 46 สถานศึกษาอาชีวะ สู่ความเป็นเลิศ พัฒนาสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี เสริมแกร่งฝีมือชน ตอบโจทย์พัฒนาชาติ

คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2: Competitive Workforce) จัดพิธีลงนามความร่วมมือโครงการ “Excellent Model School” หรือ “สถานศึกษาต้นแบบ ทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” ระหว่างสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 46 แห่ง กับ 14 องค์กรเอกชนชั้นนำระดับประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี ที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางอย่างมีคุณภาพ พร้อมเตรียมเปิดบ้านสถานศึกษาและสถานประกอบการ หวังดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่รั้วอาชีวะทั่วประเทศ

ปทุมธานี – เช้าวันนี้ (23 ธันวาคม 2559) นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อก่อตั้ง Excellent Model School หรือ “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” ระหว่างสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ 46 แห่ง นำโดย ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้เกียรติเป็นตัวแทนลงนาม กับ 14 องค์กรภาคเอกชนชั้นนำระดับประเทศ นำโดย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้ได้มีโครงการ Excellent Model School หรือ “สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ” เกิดขึ้น เพราะถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสานพลังประชารัฐ ที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้มาร่วมยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ด้วยการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดรับกับความต้องการกำลังคนของประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
“การจะก้าวไปสู่เป้าหมายนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยฝีมือชนอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นกำลังคนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อภาคการผลิต ภาคบริการ และการเป็นผู้ประกอบการ จึงต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันทำให้การพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญในการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาเป็นเลิศเฉพาะทางที่ได้คุณภาพและมาตรฐานเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การจัดการศึกษาในรูปแบบความร่วมมือของสถานประกอบการและสถานศึกษา ส่งผลให้ภาคเอกชนได้คนที่มีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการ เพราะร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมกันมาตั้งแต่ต้นทางในสถานศึกษา ขณะเดียวกันวงการอาชีวศึกษาและประเทศชาติก็จะพัฒนาไปด้วยเช่นกัน” นายแพทย์ธีระเกียรติ กล่าว
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวถึงที่มาความร่วมมือกับภาคเอกชนในครั้งนี้ว่า Excellent Model School เป็นการพัฒนาสถานศึกษาด้านอาชีวศึกษาให้เป็นต้นแบบในด้านการจัดการ โดยการผนึกกำลังกันของ 14 องค์กรภาคเอกชนชั้นนำหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า ธุรกิจการบริการและท่องเที่ยว ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบทวิภาคี (DVE : Dual Vocational Education) โดยเน้นให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 46 แห่งทั่วประเทศ สร้างพื้นฐานด้านวิชาชีพที่แข็งแกร่ง ส่วนภาคเอกชนจะเข้าไปทำงานร่วมกับวิทยาลัยในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านการฝึกประสบการณ์และการเรียนรู้เทคโนโลยีในแต่ละสาขา และรับนักศึกษาเข้าทำงานเมื่อเรียนจบ
“ความร่วมมือเพื่อก่อตั้ง Excellent Model School ครั้งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การจัดหาสถานศึกษาที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ ก่อนจะคัดเลือกสาขาวิชาที่มีความต้องการสอดคล้องกันระหว่างวิทยาลัยและสถานประกอบการ เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งเนื้อหาวิชาการ วิธีการเรียนการสอน และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในสาขานั้นๆ ให้มีความรู้ความสามารถที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน ซึ่งในวันนี้ทั้ง 46 สถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบต่างก็มีความพร้อมและความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่จะผลิตนักศึกษาในสายอาชีวะให้เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและคุณธรรม พร้อมเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าว
ในขณะที่ นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการ Excellent Model School เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษานี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนที่ได้โอกาสฝึกทักษะและประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติงานจริง ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ เช่นเดียวกับสถานศึกษาที่จะได้ยกระดับคุณภาพการจัดการ ทั้งเรื่องหลักสูตร ครูผู้สอน และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปพร้อมกัน ขณะที่ภาคเอกชนจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษา ผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สุดท้ายคือประเทศชาติ ก็จะได้ฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
“คณะทำงานสานพลังประชารัฐ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการความร่วมมือ Excellent Model School ที่จะทยอยเปิดตัวตามลำดับทั้ง 46 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย 28 สาขาวิชา จะเป็นสถานศึกษาต้นแบบนำร่องที่พร้อมจะขยายสาขาความเชี่ยวชาญ และเพิ่มจำนวน Excellent Model School แห่งอื่นๆ ให้เกิดขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพวิชาชีพที่เป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจ ให้เยาวชนและผู้ปกครอง เพื่อให้สนใจเรียนสายอาชีพมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่ต้องอาศัยกำลังคนอาชีวศึกษาในการเสริมสร้างศักยภาพสู่การแข่งขันในตลาดโลก” หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะกรรมการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวในตอนท้าย
ทั้งนี้ สถานศึกษาต้นแบบทวิภาคี สานพลังประชารัฐ มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเข้าร่วมทั้งสิ้น 46 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 28 สาขาวิชาที่เปิดสอน และมี 14 องค์กรเอกชนชั้นนำให้การสนับสนุน ได้แก่ บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.ช.การช่าง, บจก.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี, บมจ.ซีพี ออลล์, บจก.น้ำตาลมิตรผล, บมจ.เบทาโกร, เอสซีจี, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.ฤทธา, บจก.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น, บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บมจ.ไออาร์พีซี, บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)
สำหรับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ถือเป็นฟันเฟืองที่สอดประสาน บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตผู้เรียนอาชีวศึกษากับทุกภาคส่วน ซึ่งมีกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ 16 บริษัท ร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีการทำงานแบบคู่ขนาน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.) การจัดเรียงความต้องการของภาคเอกชน 2.) การพัฒนาบุคลากรรองรับ 3.) การขับเคลื่อนระยะแรก ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เรื่องเร่งด่วน คือ การปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยการดำเนินงานของ บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล การพัฒนาข้อมูลกำลังคน โดยการดำเนินงานของ บมจ.ไออาร์พีซี และการสร้างความเป็นเลิศให้กับสถานศึกษาอาชีวศึกษาต้นแบบ โดยการดำเนินงานของ บจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) 4.) แผนระยะกลางและระยะยาว ด้วยการสร้างมาตรฐานวิชาชีพ โดยการดำเนินงานของ บจก.น้ำตาลมิตรผล

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.