“ออล แอคเซส เฟสท์” เทศกาลแห่งการรู้จักและเข้าใจ เติมเชื้อไฟให้ “ความฝันไม่มีวันพิการ”

All-Access-Fest

“ออล แอคเซส เฟสท์” เทศกาลแห่งการรู้จักและเข้าใจ
เติมเชื้อไฟให้ “ความฝันไม่มีวันพิการ”

เราทุกคนล้วนมีความฝัน และความฝันที่สวยงามที่สุดมักเกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่ง่าย และน้อยคนนักที่มีโอกาสทำความฝันของตนเองให้เป็นจริง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ที่มีความพร้อมทางด้านร่างกายก็ตาม ด้วยภาระหน้าที่และข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต หลายต่อหลายคนจึงต้องเก็บความฝันของตนเข้าลิ้นชักแล้วดำเนินชีวิตต่อไป
สำหรับผู้พิการแล้ว หนทางในการทำตามความฝันนั้นยิ่งยากเย็น เพราะถึงแม้เป็นผู้ที่มีความสามารถ แต่การจะได้มาซึ่ง “ความฝัน” ที่เป็นจริงนั้น ยังต้องมาพร้อมกับ “โอกาส” ทางสังคมด้วยเช่นกัน
มูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตระหนักดีว่าการยกระดับสังคมให้มีคุณภาพได้นั้น คือการสร้างสังคมที่เข้าอกเข้าใจ สังคมที่สนับสนุนความเท่าเทียม สังคมที่พร้อมให้โอกาสคนดีมีความสามารถอย่างไม่มีข้อจำกัด และนั่นคือแรงผลักดันให้เกิดกิจกรรม “ออล แอคเซส เฟสท์ (All Access Fest)” ภายใต้โครงการ “ความฝันไม่วันพิการ” ขึ้น
นับตั้งแต่การเปิดตัวโครงการ “ความฝันไม่มีวันพิการ” หรือ Unlimited Dreams และภาพยนตร์สั้นภายใต้ชื่อเดียวกันเมื่อประมาณเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมูลนิธิเวชดุสิตฯ และ BDMS เชิญชวนคนไทยให้ร่วมชมและส่งต่อ โดยทุกๆ 1 วิว ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ และ BDMS จะมอบเงินทุนสนับสนุน 1 บาท เพื่อจัดกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมศักยภาพแก่เยาวชนผู้พิการด้านต่างๆ โดยตั้งงบประมาณสนับสนุนโครงการสูงสุด 2 ล้านบาท ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ความฝันไม่มีวันพิการ” ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และมียอดวิวสูงถึง 2 ล้านวิวตามที่ตั้งใจไว้ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
จากความสำเร็จที่ได้รับ ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ และ BDMS จึงจัดกิจกรรมต่อยอด อย่างงาน “ออล แอคเซส เฟสท์” งานเทศกาลศิลปะและดนตรีแด่น้องๆ เยาวชนทุกคนที่มีความฝันโดยไม่มีข้อจำกัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สวนลุมพินี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความฝันให้กับน้องๆ ผู้พิการ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดทางร่างกายได้ ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างสังคมที่มีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มอาสาสมัคร และน้องเยาวชน เพื่อให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้ความเหมือนบนความแตกต่างของพวกเขา และก้าวข้ามขีดจำกัดทางสังคมได้ในที่สุด
“งานเทศกาลศิลปะและดนตรี ออล แอคเซส เฟสท์ เพื่อน้องๆ ทุกคนนี้ เป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะช่วยจุดประกายความฝัน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเวทีที่จะช่วยให้น้องๆ ได้เห็นว่าน้องๆ มีพี่ๆ ในสังคมที่พร้อมจะให้การสนับสนุน ให้น้องๆ ได้ตามหาและทำตามความฝันที่ไม่มีข้อจำกัดของตนเอง” รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิตฯ กล่าว
งาน “ออล แอคเซส เฟสท์” มีคณะครู และน้องเยาวชนผู้พิการจาก 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนโสตศึกษา โรงเรียนศรีสังวาลย์ โรงเรียนประชาบดี และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ และทีมอาสาสมัครด้านภาษามือ ถ่ายภาพ เล่าเรื่อง บัดดี้ผู้คอยอำนวยความสะดวกน้องๆ ภายในงาน รวมถึงวิทยากรในด้านต่างๆ รวมทั้งสิ้นเกือบ 500 คน ภายในงานประกอบไปด้วยซุ้มกิจกรรมหลัก 4 ซุ้ม ได้แก่ ซุ้มกิจกรรมสอนทำขนม โดยนางพูลทรัพย์ เจตลีลา หรือ “ป้าจาย แม่มดดอกไม้” กูรูเรื่องดอกไม้ ผู้เขียนหนังสือ “ครัวดอกไม้” โดยนำเทคนิคการทำไอศครีมเขย่า ที่น้องๆ และอาสาสมัครสามารถช่วยกันเขย่าไอศครีมเจลาโต้หลากสีได้ด้วยตนเอง เวิร์คช็อปศิลปะ กิจกรรมกลุ่มทำกระเป๋าเดคูพาจ และกิจกรรมประดิษฐ์ ส.ค.ส. โดย ครูนา สิรินทร์นารถ ศิริชยาพร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะแฮนด์เมดสไตล์ยุโรป และอาจารย์นัฏยา บันดาลสิน ครูสอนศิลปะผู้เชี่ยวชาญด้านงานเพ้นท์และสื่อผสม ห้องเรียนดนตรี การฝึกสอนการใช้เครื่องดนตรีคลาสสิก โดยทีมนักดนตรีจากวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ บีเอสโอ มุ่งเปิดโอกาสให้น้องๆ รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้รู้จักเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ และสนุกไปกับพื้นฐานการเล่นดนตรีเบื้องต้น โดยให้น้องๆ รับรู้ผ่านแรงสั่นสะเทือนของเครื่องดนตรี นอกจากนี้ยังมี ซุ้มกิจกรรมสอนน้องถ่ายรูป โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนการถ่ายภาพ นำโดย นายนพดล ปัญญาวุฒิไกร หรือ ครูฉุน เปิดโอกาสให้น้องๆ ผู้พิการทุกคน แม้แต่ผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตา สามารถเรียนรู้หลักการถ่ายภาพ และอุปกรณ์ประเภทต่างๆ
กิจกรรมถ่ายภาพนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นศิลปะที่เยาวชนรุ่นใหม่ที่นิยม “แชะและแชร์” ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับน้องๆ ที่มีความบกพร่องทางสายตาก็จะได้รับการฝึกให้รู้จักคาดเดาระยะห่างของวัตถุ หรือบุคคลที่พวกเขาจะถ่าย
“น้องๆ เยาวชนผู้พิการทางสายตานั้นสามารถฝึกฝน และเรียนรู้จากประสาทสัมผัสที่เหลือของพวกเขา โดยใช้การสัมผัส การสื่อสารด้วยคำพูด หรือการซักถามผู้ช่วยเหลือในการสรรค์สร้างผลงานภาพถ่ายออกมา” ครูฉุน กล่าว
กิจกรรมไฮไลท์อื่นๆ ภายในงาน ยังรวมถึงการปรากฎตัวของนักแสดงสาว “เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ” อีกหนึ่งอาสาสมัครใจดีที่มาร่วมทำกิจกรรมกับน้องๆ การแสดงเปิดโดยวงดนตรีออร์เคสตราระดับแถวหน้าของเมืองไทยอย่าง วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ที่จะทำให้เยาวชนทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงความงดงามของเสียงเพลงอย่างไม่มีข้อจำกัด การแสดงจากน้องๆ โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ และมินิคอนเสิร์ตโดยศิลปิน-นักร้อง “แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข” โดยตลอดทั้งงาน น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถสัมผัสถึงดนตรีผ่านลูกโป่งและพื้นที่บริเวณงานที่จัดทำขึ้นพิเศษเพื่อให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี
นางสาวศศิชนา ดิษฐเจริญ อาจารย์จากโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ ผู้อยู่เบื้องหลังการแสดงต่างๆ จากเยาวชนผู้พิการทางการได้ยินในประเทศไทย กล่าวว่า “เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากเด็กๆ ปกติทั่วไปที่มีความซุกซน อยากรู้อยากเห็น หรือว่าตื่นเต้นไปกับการได้ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขานั้นไม่เคยได้รับประสบการณ์แบบนั้นมาก่อน และถ้าพวกเราช่วยส่งเสริมช่วยเหลือพวกเขาในการมีส่วนร่วมไปกับกิจกรรมต่างๆ พวกเขาก็สามารถเป็นส่วนหนึ่ง และรู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ เช่น การสอนให้พวกเขาได้ร่วมสนุกด้วยการเต้นและให้จังหวะไปกับเสียงผ่านเพลงภาษามือ หรือว่าการสร้างพื้นที่ดนตรีให้กับพวกเขาได้รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องเล่นดนตรี เป็นต้น”
นางสาวปัทมา หนึ่งในอาสาสมัครผู้ดูแลน้องผู้พิการทางการเคลื่อนไหวจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ เผยว่าการได้มาร่วมกิจกรรมกับน้องๆ ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับเธอเป็นอย่างมาก จากที่เคยเข้าใจว่าข้อจำกัดทางร่างกายของน้องๆ จะเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่างๆ
“การที่ได้มาใช้เวลาอยู่กับน้องๆ ในวันนี้ ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้จากน้องๆ อย่างมากมายด้วย น้องๆ สามารถเล่นกีฬา และทำกิจกรรมต่างๆไม่ต่างจากเด็กปกติ เพียงแต่น้องๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำกิจกรรมเหล่านั้น เพราะสังคมมักเข้าใจว่าพวกเขาทำไม่ได้เท่านั้นเอง” นางสาวปัทมา กล่าว
นอกจากการจัดกิจกรรมศิลปะและดนตรีเพื่อน้องๆ แล้ว ภายในงาน “ออล แอคเซส เฟสท์” ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ ยังได้บริจาคเงินสนับสนุนแก่มูลนิธิราชสุดา และมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) อีกมูลนิธิละ 500,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมส่งเสริมศิลปะของเยาวชนผู้พิการต่อไป
“ทางมูลนิธิฯ ขอเป็นอีกเสียงที่ขอยืนยันว่า เรายังจะมุ่งมั่นให้การสนับสนุนความฝันที่ไม่มีวันพิการนี้ต่อไป” รศ. อัจจิมา กล่าวทิ้งท้าย
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ และ ให้โอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมกับเยาวชนผู้พิการ ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจากมูลนิธิเวชดุสิตฯ ในอนาคต และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิฯ ผ่านเฟสบุ้ค http://on.fb.me/1WTGanv

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.