อิหร่านกับวรรณคดีเปอร์เซีย

โดย ศ.(กิตติมศักดิ์) ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน
ผู้อำนวยการศูนย์อิหร่านศึกษาและภาษาเปอร์เซีย วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC)

อิสลามได้กระตุ้นในด้านการศึกษาและการเรียนรู้และได้ให้การเคารพนับถือผู้รู้ ปราชญ์และยังถือว่าความรู้คือขุมทรัพย์มิมีวันหมดสิ้น ฉะนั้นจะเห็นว่าบรรดาคอลีฟะฮ์โลกอิสลามให้การสนับสนุนต่อการเรียนรู้และการศึกษาหาความรู้ในด้านต่างๆ อีกทั้งยังให้การช่วยเหลือปวงปราชญ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคทองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ บรรดาคอลีฟะฮ์ให้การช่วยเหลือนักปราชญ์ชาวเปอร์เซียในการขยายความรู้สาขาวิชาต่างๆ

โดยได้ให้การค้ำชูอุปถัมภ์ในการแปลตำราต่างๆ เช่น ตำราของชาวเปอร์เซีย จากภาษาเปอร์เซียเดิม มาเป็นภาษาอาหรับ ทำให้ชาวอิหร่านได้ใช้โอกาสในการรักษาภาษาเปอร์เซียเอาไว้ได้อย่างเข้มแข็ง และในราชสำนักของคอลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ได้มีนักปราชญ์มุสลิมชาวอิหร่านเข้าไปมีบทบาทในด้านวิชาการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกวีประจำราชสำนัก โดยได้รับเงินสนับสนุนอย่างดี

นักปราชญ์หรือนักการศาสนาที่ได้เขียนตำราเป็นภาษาเปอร์เซียและมีความชำนาญในภาษาเปอร์เซีย ทำให้เกิดโอกาสที่ดีและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในด้านภาษาเปอร์เซีย เพราะว่าภาษาอาหรับและวรรณกรรมอาหรับได้ไหล่บ่าเข้าสู่วรรณคดีเปอร์เซียและยังได้เข้ามามีบทบาทในภาษาเปอร์เซียอย่างมากทีเดียว จะเห็นได้ว่าภาษาอาหรับหลายพันคำทีเดียวถูกนำไปใช้ในภาษาเปอร์เซีย ทำให้ภาษาเปอร์เซียเพิ่มความเข้มข้นและเข้มแข็งไปอีกระดับหนึ่ง จนปรากฏเกิดวรรณคดีเปอร์เซียที่น่าทึ่งและน่าสนใจทีเดียว และต่อมาทำให้วรรณคดีเปอร์เซียได้รับการสนอกสนใจจากนักปกครองและจากชาวต่างชาติ เพราะว่าได้พัฒนาตัวเองถึงขั้นสูงส่งกว่าวรรณคดีอาหรับ เพราะเหตุว่ารูปแบบและการวางตัวอักษรและการเขียนบกวีเปอร์เซียนั้นมีความอ่อนโยนและได้รับการขัดเกลาทางภาษามาเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้ภาษาเปอร์เซียมีท่วงทำนองทีไพเราะและหวานซึ้ง จนต่อมากลายเป็นวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติเลยทีเดียว

สิ่งที่ควรกล่าวไว้ ณ ตรงนี้ว่าภาษาเปอร์เซียได้รับใช้ศาสนาอิสลามมาเป็นอย่างมาก เพราะศาสนาอิสลามได้ผ่านการเผยแพร่ไปในอนุทวีปอินเดีย จีน และบางส่วนของเอเชีย หรือประเทศไทย ที่ได้มีชาวเปอร์เซีย นามว่า เฉก อะหมัด กูมี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านสื่อของภาษาเปอร์เซียในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนต่างๆ จนปรากฏเห็นในสังคมไทยจนถึงวันนี้

วรรณคดีเปอร์เซียมีความน่าสนใจทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหา ชาวเปอร์เซียได้นำรูปลักษณ์แบบ “ฆาซัล” (เป็นรูปแบบที่อาหรับได้ใช้ในการเขียนบทกวี) โดยที่ปราชญ์เปอร์เซียได้นำมาพัฒนาและสร้างความก้าวหน้า จนกลายเป็นรูปแบบที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง

บทกวีที่เขียนออกมาในลักษณะ “ฆาซัล” จะรำพันถึงลำนำแห่งความรักเป็นบทสั้นๆ หรือเป็นบทกวีที่แสดงออกถึงด้านอภิปรัชญา (Meta-Physics) และด้านรหัสยนัย (Mystics) ด้านซูฟีและการจาริกสู่พระเจ้า หรือการรำพันคร่ำครวญถึงเรื่องการจากไปของกาลเวลา หรือการจากไปของคนรัก ซึ่งจะประจักษ์พยานจากบทกวีใน “ดีวาน ฮาฟิซ”

ผลของวรรณคดีเปอร์เซียที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีบทบาทในเชิงบวกตลอดมา กล่าวกันว่าในอินเดียสมัยการปกครองราชวงศ์โมกุลได้นำภาษาเปอร์เซียมาเป็นภาษาราชการในราชสำนัก และยังคงใช้เป็นภาษาราชสำนักจนจนกระทั่งปลายคริสตศักราชที่ ๑๙ หรือแม้แต่วรรณคดีตุรกี โดยเฉพาะในบทกวีนับว่าได้รับอิทธิพลจากกวีเปอร์เซียอย่างมากทีเดียว

อายาตุลลอฮ์ ซัยยิด อะลี คามาเนอี ผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (คนปัจจุบัน) ได้กล่าวว่า “ภาษาเปอร์เซียเป็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของเรา คือ ประชาชนผู้ที่พูดภาษาเปอร์เซียทั้งหลาย เนื่องด้วยหลายเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ภาษานี้กลายเป็นภาษาทางการอยู่ในประเทศที่ถือกำเนิดขึ้น รวมทั้งในส่วนอื่นของโลกมาเป็นเวลาหลายร้อยปี หรืออย่างน้อยก็เป็นสื่อแห่งการแสดงออกของความคิดเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ ศิลปะและวรรณกรรม”

จากวรรณกรรมเปอร์เซียที่โด่งดังจนถึงทุกวันนี้ คือ “ดีวาน ฮาฟิซ” เป็นบทกวีนิพนธ์ของ ชัมซุดดีน มุฮัมมัด ฮาฟิซ ในช่วงศตวรรษที่ ๑๔ ฮาฟิซเป็นบุคคลที่มีความสนใจต่อบทกวีนิพนธ์อย่างมาก เขาได้อุทิศชีวิตของตนเองไปในทางของศาสนาและการเขียนบทกวีนิพนธ์ โดยมิสนใจต่อชีวิตทางโลกหรือชื่อเสียงเกียรติยศ ฮาฟิซใช้ชีวิตอย่างสันโดษตั้งแต่วัยหนุ่ม โดยสนใจต่อเรื่องการปฏิบัติธรรมทางศาสนาและการจาริกสู่พระเจ้า มีความมุ่งมั่นต่อการขัดเกลาจิตใจ จากการที่เขารักในการถือสันโดษจึงไม่นิยมชมชอบในพิธีการต่างๆ และความฉาบฉวยฟุ่มเฟือย แม้จะมีผู้เสนอเงินทองและสิ่งมีค่าให้แต่ก็ไม่ยอมรับ ฮาฟิซมีลักษณะเป็นผู้แสวงหาความอิสรภาพและสันติภาพเป็นผู้ขัดเกลาตนเองในฐานะ “ซูฟี” เป็นผู้มุ่งมั่นต่อการค้นหาความจริงแท้และให้เกียรติกับเพื่อนมนุษย์ทุกศาสนา ทุกลัทธินิกาย

ฮาฟิซ ดำรงชีวิตดั่งอาริฟ แต่ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้มนุษย์รู้จักกับความจริงสูงสุด เขาศึกษาตนเองและประจักษ์แจ้งในพระเจ้า ฮาฟิซได้เขียนบทกวีนิพนธ์ในรูปแบบฉันทลักษณ์ (ฆาซัล) ภาษาเปอร์เซียที่เขาได้นำมาเรียบเรียงนั้นเป็นภาษาที่สูงมาก มีความไพเราะ

ท่านอายาตุลลอฮ์ ซัยยิด อะลี คามาเนอี ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน (คนปัจจุบัน) ได้กล่าวว่า “ฮาฟิซ เป็นเสมือนดวงดาวที่เจิดจ้าที่สุดของวัฒนธรรมเปอร์เซีย เขาเป็นกวีของทุกๆ ศตวรรษ แม้ว่าจะมีหนังสือมากมายหลายร้อยเล่มเขียนเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของเขาหรือรวบรวมบทกวีของเขา แต่ทว่าก็ยังไม่รู้จักตัวตนของเขา เราไม่เพียงแต่ให้การเคารพต่อ ท่านฮาฟิซในฐานะเป็นบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ทว่าท่านผู้นี้ได้นำสาส์นหนึ่งและวัฒนธรรมหนึ่งมาเสนอต่อโลก อัลกุรอานนั้นเป็นคำสอนและบทเรียนอันยิ่งใหญ่ตลอดกาลของมนุษยชาติ และบทกวีของฮาฟิซตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอาน ฉะนั้นบทกวีของฮาฟิซได้นำศิลปะกรรมเปอร์เซียให้ขึ้นสู่จุดสูงสุด”

อายาตุลลอฮ์ อะลี คามาเนอี ได้กล่าวอีกว่า… “ในทัศนะของข้าพเจ้า ฮาฟิซมีโลกทัศน์ไปในทางปรัชญาศาสนาซึ่งเน้นในเรื่องพระผู้เป็นเจ้า ตัวของเขาเองเป็นผู้ศรัทธาในหลักเอกานุภาพของพระเจ้า ซึ่งไม่เกินเลยที่กล่าวว่า บทกวีของฮาฟิซมีความสัมพันธ์กับศาสนา เกี่ยวกับการรู้จักพระเจ้า การรักในพระเจ้า”
(อ่านข่าวต่อ https://goo.gl/gbbGpx)

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.