เสริม “หลักนิติธรรม” สร้างอนาคต สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Institute for Global Law and Policy – IGLP at Harvard Law School ตอกย้ำการสร้างเสริมหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ในโลกที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด และมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อสมาชิกในสังคม “หลักนิติธรรม” ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเสริมสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม และความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องใส่ใจและให้สำคัญ ในการนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) จึงจับมือกับสถาบัน Institute for Global Law and Policy หรือ IGLP แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปิดเวทีสาธารณะระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม” เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในเรื่องของการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ากับการออกแบบนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนำสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ หลักนิติธรรมถูกกำหนดไว้เป็นเป้าหมายที่ 16 จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN’s Sustainable Development Goals – SDGs) จำนวน 17 ข้อ และได้รับการยอมรับว่านอกจากจะเป็นเป้าหมายในตัวเองแล้ว หลักนิติธรรมยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างเสถียรภาพและการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งยังเป็นปัจจัยเอื้อให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประการอื่น ๆ ประสบความสำเร็จอีกด้วย

ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า “ในขณะที่สังคมเผชิญกับภัยคุกคามไซเบอร์ การทุจริตคอรัปชั่น ความไม่เท่าเทียมในสังคม และประเด็นการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การแก้ปัญหาไม่อาจสำเร็จได้โดยอาศัยเพียงนักกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย หากยังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องการวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้หลักนิติธรรมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการนี้ จำเป็นต้องอาศัยพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโลกในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการออกแบบนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งหากใช้เครื่องมือทั้งสองอย่างนี้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเชิงโครงสร้างจะเกิดขึ้นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และยั่งยืนยิ่งขึ้น”

ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้ให้มุมมองว่า “เพราะอาชญากรทำงานกันเป็นเครือข่าย เราจึงต้องใช้เครือข่ายจัดการกับเครือข่าย และเพราะอาชญากรทำงานโดยใช้เทคโนโลยี เราจึงต้องใช้เทคโนโลยีจัดการกับเทคโนโลยีด้วย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในยุคดิจิทัล ให้สามารถอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เป็นธรรม และทันสมัย จะเป็นทิศทางหลักในการทำงานของเครือข่ายบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไทยและนานาชาติ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อเติมเต็มศักยภาพระหว่างกันทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติจริง พร้อมเป็นที่พึ่งและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน”

ทางด้าน ศ.ดร.ชีล่า จาซานอฟ จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า “กฎหมายและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติ โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่กฎหมายวางแนวทางไว้ แท้จริงแล้วเทคโนโลยีไม่ได้นำหน้ากฎหมาย หากแต่ทำงานร่วมกันในการสร้างระเบียบสังคมที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวแปร” นอกจากนี้ยังชี้ว่า หน้าที่หลักของกฎหมายคือการกำหนดและปกป้องคุณค่าและสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในบริบทของการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เทคโนโลยีเป็นตัวทดสอบและปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานเดิมในสังคม และนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ เช่น ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

“พวกเราควรจะได้ตระหนักและเข้าใจศักยภาพในทางสร้างสรรค์ของกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี” ศ.ดร.ชีล่า กล่าวย้ำ

เวทีสาธารณะระดับนานาชาติในครั้งนี้ ยังมีการเสวนาใน 3 หัวข้อ จากการตกตะกอนร่วมกันของนักกฎหมาย นักนโยบาย นักเทคโนโลยี และนักวิชาการ 140 คน จากกว่า 40 ประเทศ ที่ได้ผ่านการเรียนรู้ และระดมสมองอย่างเข้มข้นตลอด 5 วันเต็ม ในหลักสูตร “TIJ-IGLP Workshop for Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy” ประจำปี 2562

การเสวนาแรกจัดภายใต้หัวข้อ “ประสบการณ์ในระดับภูมิภาคด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย” ได้หยิบยกประสบการณ์ที่น่าสนใจด้านหลักนิติธรรมที่หลากหลายประเทศในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย กำลังเผชิญ อาทิ ประเด็นด้านสิทธิในที่ทำกินและปัญหาสิ่งแวดล้อม ประเด็นความเสมอภาคทางเพศ และการต่อต้านการคอร์รัปชั่น มานำเสนอ

ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise อ้างถึงองค์กรกว่า 30 แห่งในประเทศไทยที่กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงพลังในการแจ้งพฤติกรรมคอร์รัปชั่นผ่านสื่อโซเชียล โดยชี้ว่า “เราต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน ผ่านการสร้างระบบนิเวศเพื่อต่อต้านคอร์รัปชั่น”

การเสวนาที่ 2 ว่าด้วย “การสร้างเสริมความเท่าเทียมและความยุติธรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี” อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นด้านผู้กำกับดูแลเทคโนโลยี การย้ำเตือนถึงอันตรายจากการรวมอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในมือของรัฐบาล และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งผู้เสวนาทุกคนต่างก็เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ทั้งยังเห็นว่า เทคโนโลยีสามารถเข้ามาเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความโปร่งใส ความเสมอภาคและความยุติธรรมได้
ศ.ลูซี่ ไวท์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปรียบเทียบระบบสาธารณสุขระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยว่า “ผู้มีรายได้น้อยในสหรัฐมีระบบสาธารณสุขที่ไม่ดี ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยในไทยจัดว่าได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขที่ทันสมัยและหลากหลาย” ทั้งยังอธิบายต่อว่า สภาวการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากสาธารณสุขในประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของคนมากกว่าผลประโยชน์ทางการค้า

การเสวนาสุดท้ายในหัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อตอบโต้ข้อท้าทายของอาชญากรรมในโลกไร้พรมแดน” อภิปรายถึงคดีอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ทั่วโลกที่ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นความท้าทายที่หนักหนาอย่างหนึ่ง เมื่อโลกยังแบ่งแยกด้วยเขตพรมแดน แต่อาชญากรก่ออาชญากรรมอย่างไร้พรมแดน

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AccRevo ชี้ว่า การต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์เป็นเรื่องที่ “ยาก ใช้เวลานาน และมีค่าใช้จ่ายสูง” อีกทั้งบุคลากรที่มีหน้าที่ในการต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ ยังมีความรู้และความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอ เช่น หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้เสวนาล้วนเห็นตรงกันว่า ทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ ในการทำงาน ตลอดจนบทลงโทษทางกฎหมาย มร. เดนนิส เดวิส ผู้พิพากษาศาลฎีกาแห่งเคปทาว์น ซึ่งเข้าร่วมการเสวนา ให้ความเห็นว่า การต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์จะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย “การประสานความร่วมมือกันและการแบ่งปันข้อมูลระว่างรัฐบาล”
การสัมมนาในครั้งนี้มีการถ่ายทอดทาง FB Live สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง www.facebook.com/tijthailand.org

# # # #

สื่อมวลชนสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
คุณไอยย์รัศ สิทธิพูล (โน๊ต) โทร 062-185-9681 คุณชมพูนุท ทองสุโชติ (ไอซ์) โทร 087-508-1538
คุณสุจิตตรา มิตรเรืองศิลป์ (อาร์ม) โทร 089-895-7960

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.