โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus)

โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำสารคาร์โบไฮเดรต ( ประเภทแป้งและน้ำตาล ) มาใช้ได้ตามปกติ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ เกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ซึ่งสาเหตุของโรค ยังไม่ทราบแน่ชัดได้ว่าเกิดจากอะไร ทั้งนี้อาจจะเกิดจากการที่ตับอ่อนสร้างฮอร์โมนประเภทอินซูลินไม่เพียงพอ หรืออาจจะสร้างได้เพียงพอแต่มีสารอื่นมาต่อต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้มีสารมาทำลายอินซูลินมากขึ้น และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกกลุ่ม ซึ่งหากภาวะเบาหวานไปเกิดขึ้นกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจสร้างความกังวลในการดูแลตัวเองได้ โดยภาวะเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. มีอาการเบาหวานเกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์ ( Pre-Gestational Diabetes Mellitus หรือ Pre-GDM ) เป็นชนิดที่พบได้ทั้งในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ( ผลิตฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนได้น้อย ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน ) หรือเบาหวานชนิดที่ 2 ( ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินต่ำ ทำให้กระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมันผิดปกติไป ) เบาหวานในลักษณะก่อนตั้งครรภ์นี้จะมีความรุนแรงมากกว่าลักษณะที่ 2 โดยตัวโรคจะมีผลต่อการสร้างอวัยวะของทารก ซึ่งอาจทำให้ทารกผิดปกติและทำให้แท้งบุตรได้ง่าย
2. เพิ่งเป็นเบาหวานในขณะกำลังตั้งครรภ์ ( Gestational Diabetes Mellitus หรือ GDM ) เป็นกรณีที่พบได้ประมาณร้อยละ 12.9 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหมด และพบได้ประมาณร้อย 90 ของเบาหวานที่พบในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยจะพบหลังการตั้งครรภ์ประมาณ 24-28 สัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้ทารกตัวโต อวัยวะใหญ่ คลอดได้ยาก ( จากการติดไหล่ของทารก ) และอาจเกิดภาวะการแท้งได้ในระยะใกล้คลอด
แนวทางการรักษาเบาหวานและดูแลตัวเองขณะการตั้งครรภ์
การดูแลรักษาสำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีจุดประสงค์เพื่อที่จะลดโรคแทรกซ้อนของคุณแม่ และลดอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลาย สาขาร่วมกันระหว่างสูติแพทย์ , อายุรแพทย์ รวมถึงตัวคุณแม่เอง และในวันคลอดก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากกุมารแพทย์ เพื่อมาช่วยเหลือเด็กแรกเกิดและป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่และลูก ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ คุณแม่จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
2. ต้องควบคุมอาหารให้ถูกสัดส่วนและถูกเวลา
3. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. ต้องมารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด
5. ยาที่ใช้รักษาเบาหวานจะต้องใช้แบบชนิดฉีด
6. ในกรณีที่มีความผิดปกติ เช่น คุณแม่มีอาการอ่อนเพลีย, น้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไป, ท้องไม่โตขึ้น, ลูกดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้น, มีอาการของครรภ์เป็นพิษ, มีความผิดปกติอื่นๆ ( อาทิ เบาหวานขึ้นตา ) ให้รีบไปพบแพทย์ก่อนถึงเวลานัดทันที
บทความโดย : แพทย์หญิง วลัยพร เลาหวินิจ เฉพาะทางอายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซึม โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โทร. 02-836-9999 ต่อ 2921-3

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.