A tool for Global Leaders – การโค้ช เพื่อให้ผู้บริหารสามารถบรรลุเป้าหมายในทุกด้านของชีวิตอย่างมีความสุข โดย “คุณจิมมี่เดอะโค้ช”

RJ0_6227

สถาบัน ลีด บิซิเนส (LEAD Business Institute) ผู้บริหารหลักสูตรผู้นำธุรกิจระดับโลก (Global Business Leaders Program หรือ GBL) ด้วยความร่วมมือของวิทยาลัยอุตสาหกรรมและแรงงานสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (The Industrial Labor Relations School – ILR, Cornell University) ได้รับเกียรติจากคุณพจนารถ ซีบังเกิด ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “คุณจิมมี่เดอะโค้ช” ผู้ก่อตั้ง Jimi The Coach Company Limited, Thailand Coaching Academy และ Better You Company Limited เป็นวิทยากรบรรยายในการอบรมครั้งที่ 6 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559

Executive Coaching : A tool for Global Leaders โดยคุณพจนารถ ซีบังเกิด

การโค้ชคือการพาบุคคลหนึ่งไปยังเป้าหมายที่บุคคลนั้นต้องการ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้โค้ชและผู้ได้รับการโค้ช เพื่อให้ผู้ได้รับการโค้ชมีกำลังใจในการนำศักยภาพของตนเองมาใช้ การโค้ชผู้บริหาร (Executive Coaching) จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาภาวะผู้นำ เพื่อให้ผู้บริหารได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่เพื่อนำองค์กรไปสู่การเติบโตที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน

ในการโค้ชนั้น สิ่งที่ผู้โค้ชต้องทำเป็นอันดับแรกคือการทำให้ผู้ได้รับการโค้ชมองเห็นข้อดีของตนเอง โดยเชื่อมั่นว่าผู้ที่จะได้รับการโค้ชนั้นมีทุกอย่าง(ความสามารถ)อยู่ภายในตัวเองแล้ว ผู้โค้ชมีหน้าที่ชี้ให้เห็นและให้ผู้ได้รับการโค้ชตัดสินใจนำสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้ ดังนั้น ผู้โค้ชจำเป็นต้องทำความรู้จักกับตัวตนของผู้บริหาร โดยการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น และรักษาความลับของผู้ได้รับการโค้ชซึ่งเป็นความสุจริต (Integrity) ที่ผู้โค้ชต้องยึดถือ เพื่อให้ผู้บริหารบอกเล่าเรื่องราวที่อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทำให้ผู้โค้ชสามารถชี้แนะและร่วมมือกับผู้บริหารกำหนดทิศทางต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริหารควรเลือกผู้โค้ชที่มีวิธีการที่ตนเองยอมรับได้ในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกอึดอัดหรือต่อต้านมากจนเกินไปในระหว่างการโค้ช

สิ่งที่ผู้บริหารได้รับจากการโค้ช
1. การมีภาวะผู้นำโดยเริ่มจากการนำตนเอง จากข้อคิดที่ว่า “The first person you lead is yourself.”
2. ความสามารถในการสร้างความแตกต่าง
3. การมีวิสัยทัศน์ (Vision) ซึ่งการทำให้ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากเดิมได้นั้น ต้องกระตุ้นให้สมองส่วนที่เป็นการหยั่งรู้ (Intuition) ได้ทำงานมากขึ้นโดยการพักการทำงานของสมองส่วนที่เป็นตรรกะชั่วคราว การจะกระตุ้นสมองส่วนดังกล่าวได้ก็ด้วยการอาศัยความนิ่งและสติเป็นสำคัญ
4. การเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่น (Modeling) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนปฏิบัติตาม
5. การกล้าตัดสินใจโดยไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากภายนอกหรือบุคคลอื่น

Life Coaching ควบคู่กับ Executive Coaching เพื่อให้ผู้บริหารสามารถบรรลุเป้าหมายในทุกด้านของชีวิตอย่างมีความสุข
ปัญหาจากชีวิตส่วนตัว เช่น ความกลัว ปัญหาครอบครัว สถานะการเงิน โรคภัยไข้เจ็บ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของผู้บริหาร ซึ่ง Life Coaching เป็นทักษะหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาจากชีวิตส่วนตัว ด้วยแนวคิดที่ว่าเมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็จะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งผู้โค้ชจะต้องเชื่อก่อนว่ามนุษย์มีศักยภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพของมนุษย์คือการลดปริมาณสิ่งรบกวนออกไป (Performace = Potential – Interference)

ผู้โค้ชจะต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ (Human Being) อันประกอบด้วย ตัวตน (Being) ความเชื่อ (Belief) คุณค่า (Value) ความต้องการ (Need) และความกลัว (Fears) เมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้วจะสามารถเข้าใจพฤติกรรม บุคลิกภาพ ภาษา หรือเรื่องราวของคนอื่นได้ หากต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด ผู้โค้ชต้องสังเกตและปรับเปลี่ยนให้ลึกลงไปถึงระดับจิตใต้สำนึกของคนนั้นๆ
ในบางครั้งผู้ที่ได้รับการโค้ชอาจไม่มีเป้าหมายในชีวิตหรือมีเป้าหมายแต่ไม่มีแนวทางไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน การโค้ชด้วยวิธี Be-Do-Have จะช่วยให้ผู้ได้รับการโค้ชไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและเป็นขั้นตอน โดยการวิเคราะห์ว่าเราเป็นใครและมีอะไร (Be) ต้องการหรือมีเป้าหมายอะไร (Have) และจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร (Do) เช่น หากต้องการขยายธุรกิจไปยังประเทศพม่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง มีนักลงทุนมากมายที่เข้าไปลงทุนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่ทราบต้นทุนของตนเอง กล่าวคือไม่ทราบว่าต้องใช้คุณสมบัติใดบ้างเพื่อให้การลงทุนประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีความกลัวว่าตนเองจะไม่ดีพอ ซึ่งอาจหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อแก้ไขความกลัวในส่วนนี้ได้ เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีความกลัว 3 ประการกล่าวคือ กลัวว่าจะไม่ดีพอ (Not good enough) กลัวไม่เป็นที่รัก (Not being loved) และกลัวไม่ได้เป็นเจ้าของ (Not belong to) ซึ่งทุกคนพยายามหนีความกลัวเหล่านี้แต่ขอให้เป็นการหนีในเชิงบวก เช่น ผู้บริหารระดับสูงที่มักกลัวว่าจะไม่ดีพอจึงสามารถผลักดันตนเองมาถึงจุดที่อยู่ได้ เป็นต้น

การสร้างวัฒนธรรมการโค้ช (Coaching Culture) ในองค์กร
การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กรต้องมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม และต้องเกิดจากบุคลากรภายในองค์กรเองมี Coaching Mindset ซึ่งบุคลากรดังกล่าวจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการโค้ชและต้องรู้จักวิธีการถาม (Coaching Communication Style) โดยต้องมีความเชื่อก่อนว่า ทุกคนมีดีมากกว่าที่เป็นอยู่ ทุกคนทำทุกอย่างดีที่สุดแล้วสำหรับทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ และในโลกนี้ไม่มีคำว่าล้มเหลว ถ้าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งนั้นคือข้อเสนอแนะ (Feedback) เพื่อการปรับปรุง และต้องสามารถมี Coaching Conversation ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้

ข้อคิดสำหรับการทำงาน
1. “… เมื่อเราหาเจอว่า Who am I? เราเกิดมาเพื่อเป็นคนๆนี้ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปเราจะไม่ต้องทำงานอีกเลย ไม่ต้องเรียกสิ่งที่เราทำว่าอาชีพอีกต่อไป …”
2. การประสบความสำเร็จที่ไม่อิ่มเอมหรือผู้บริหารไม่มีความสุขจากภายในถือว่าล้มเหลว (Success without fulfillment is a failure.)

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://www.leadbusinessinstitute.com/category/press-release-en/

ติดต่อรับข้อมูลทาง:
E-mail: marketing@leadbusinessinstitute.com
Instagram: leadbusiness
Line: @leadbusiness
Facebook: leadbusinessthailand
#gbl#leadbusiness

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.