SACICT เปิดงาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ชูแนวคิด “หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน” รวบรวมศิลปหัตถกรรมทรงคุณค่าและภาคภูมิสมกับเป็นมรดกชาติ

ชูแนวคิด “หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน” ตระการตากับไฮไลท์การแสดงผลงานหัตถศิลป์ไทยชิ้นพิเศษจากฝีมือครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รังสรรค์เป็นผลงานอันเป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่าภาคภูมิสมกับความเป็นมรดกของชาติ พร้อมกิจกรรมพิเศษอีกมากมาย ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๓ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ณ เพลนารี ฮอลล์ ๑ – ๓ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดพิธีเปิดงาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ภายใต้แนวคิด “หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน : The Artisanal Collectibles” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงชิ้นงานศิลปหัตถกรรมซึ่งผ่านองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษมายาวนาน ผ่านรุ่นสู่รุ่นมายังครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และพร้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่และผู้คนในปัจจุบันที่เห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์

โดยได้รับเกียรติจาก นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมไฮไลท์การแสดงชุด “เงาแผ่นดิน : ๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” โดยมีตัวแทนครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ร่วมแสดง ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมพิธีเปิดเป็นอย่างมาก

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริม ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมของไทยเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์ของประเทศไทยนำมาซึ่งยกระดับและต่อยอดภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้อย่างกว้างขวาง ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ทางและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ทำงานสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรม โดยมีเป้าหมายให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานให้งานหัตถศิลป์ไทยอยู่คู่กับคนไทยสืบไป ซึ่งงานอัตลักษณ์แห่งสยามเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของ SACICT ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปี ๒๕๖๒ นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “หัตถศิลป์ล้ำค่า รักษาไว้ให้ลูกหลาน :The Artisanal Collectibles” สะท้อนให้เห็นถึงชิ้นงานศิลปหัตถกรรมซึ่งผ่านองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษมายาวนาน ผ่านรุ่นสู่รุ่นมายังครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และพร้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่และผู้คนในปัจจุบันที่เห็นคุณค่าของงานหัตถศิลป์ ซึ่งแต่ละชิ้นงานสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างละเอียดประณีตวิจิตรบรรจงอย่างที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน บางงานยังหาคนทำยากและใกล้สูญหาย แต่งานนี้ได้รวบรวมมาให้ชมอย่างยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

“การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งยิ่งใหญ่กว่าทุกๆ ครั้ง งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ในปี ๒๕๖๒ ในครั้งนี้เสมือนการรวมสมบัติ อันล้ำค่าจากบุคคลระดับ “ครู” ไว้ในที่เดียวกัน ด้วยผลงานศิลปหัตถกรรมกว่า ๑๘๐ คูหา ที่นำมาจำหน่าย และเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ และที่สำคัญที่ถือว่ายิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง ก็คือ การเปิดเวทีจำหน่ายผลงานที่เป็น “ที่สุด” อันเป็นฝีมือ “ครูศิลป์ของแผ่นดิน” “ครูช่างศิลปหัตถกรรม” และ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ซึ่งไม่สามารถได้เห็นผลงานเหล่านี้ในคูหาจำหน่ายปกติ เพราะเป็นผลงาน “ชิ้นพิเศษ” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเฉพาะซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวเพื่องานครั้งนี้เท่านั้น” นางอัมพวัน กล่าว

ทั้งนี้ งาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ได้ดำเนินการจัดงานครบรอบ ๑๐ ปี ในปีนี้ ภายในงานจึงมีความยิ่งใหญ่ และพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา ได้รวบรวมสุดยอดผลงานแห่งภูมิปัญญาเชิงช่างหัตถศิลป์จากทั่วประเทศมาจัดแสดงและจำหน่ายกว่า ๑๘๐ คูหา โดยแบ่งโซนการจัดงานออกเป็น ๕ โซนหลัก ประกอบด้วย โซนที่ ๑ “เชิดชูครู-ทายาท หัตถศิลป์” จัดแสดงนิทรรศการชีวประวัติ ผลงานศิลปหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน ๒๕ ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือก ประจำปี ๒๕๖๒ พร้อมชมการสาธิต และถ่ายทอดประสบการณ์รวมถึงเทคนิคการผลิตผลงานอย่างใกล้ชิด โซนที่ ๒ “ภูมิปัญญา จารึก แผ่นดิน” จัดแสดงผลงานชิ้นพิเศษ ระดับมาสเตอร์พีซ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า ๓๐ ผลงาน อาทิ ผ้าทอลาวครั่ง ผ้ามัดหมี่ต่อตีนจก เครื่องประดับมุก จักสานปอเฮ หัวโขน ต่อเรือจำลอง เป็นต้น โซนที่ ๓ “หัตถศิลป์ในชีวิตประจำวัน” พบการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าจากฝีมือครูชั้นนำระดับประเทศ กว่า ๑๘๐ ร้าน โซนที่ ๔ “หัตถกรรม ทำด้วยใจ” ร่วมเวิร์คช็อป ลงมือสร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์ชิ้นพิเศษด้วยตัวท่านเอง ทุกวัน วันละ ๖ รอบ ไม่ว่าจะเป็น จักสานพัด พวงกุญแจเครื่องรัก เพ้นท์ตลับเครื่องเขิน ปลอกหมอนด้นมือ เป็นต้น

ปิดท้าย โซนที่ ๕ หัตถศิลป์ไทย “จากมือสู่มือ” เป็นการจัดแสดงผลงานที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษกว่า ๕๐ ชิ้นงาน ซึ่งล้วนเป็นของล้ำค่าและทรงคุณค่า ซึ่งคนไทยควรมีโอกาสมาเห็นสักครั้งในชีวิต
งาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ – ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ เพลนารี ฮอลล์ ๑ – ๓ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. สอบถามเพิ่มเติมโทร. ๑๒๘๙ www.sacict.or.th และ www.facebook.com/sacict

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.