กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ เปิดให้ทุนวิจัย ด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปี 60

https://www.prbuffet.com/wp-content/uploads/gravity_forms/1-bbd41564888920f8c6bf584b341e6fe7/2017/01/DSC_6085.JPG

กองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ เปิดให้ทุนวิจัย
ด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ปี 60
————————————————————————————–
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดรับข้อเสนอโครงการ การสนับสนุนทุนการศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ประจำปี งบประมาณ 2560 ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มกราคม 2560

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2560 เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรประสงค์จะศึกษาวิจัยในการพัฒนาด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายนำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์กับส่วนร่วมและประเทศชาติ

โดยในปีนี้ สนพ. ได้ร่วมกับ 7 สถาบันอุดมศึกษาทุกภูมิภาคเป็นแม่ข่ายงานวิจัย (Parent Nodes) ช่วยดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพมหานคร) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ภาคกลาง) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ภาคกลางและภาคตะวันตก) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภาคใต้) โดยขอบเขตงานวิจัยแบ่งออกเป็น 16 กรอบหัวข้อที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ อาทิ การแก้ไขปัญหาหมอกควัน, อุตสาหกรรมผลไม้, การท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมอ้อย, อุตสาหกรรมปศุสัตว์, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมห้องเย็น เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้แบ่งออกเป็นกรอบหัวข้อเชิงประเด็นด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่ เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า, วัสดุเพื่อการประหยัดพลังงาน, อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง เป็นต้น ส่วนกรอบหัวข้อเชิงประเด็นด้านพลังงานทดแทน ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (Advanced Biofuels) เชื้อเพลิงชีวมวลขั้นสูง (Advanced Biomass) มาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนลดความร้อน (Renewable Heat incentive) โครงข่ายพลังงานทดแทนระดับชุมชน/หมู่บ้าน (Micro & Nano Grid) เป็นต้น

ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอรับทุนวิจัย ต้องเป็นส่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลทางกฎหมายและมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมิได้มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งค้าหากำไรซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย รวมถึงเป็นบุคลากรหลักที่รับผิดชอบโครงการ มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ เกี่ยวกับงาน/โครงการที่ขอรับทุน และสามารถปฏิบัติงานได้ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ ในกรณีงาน/โครงการที่ยื่นขอรับทุน ได้รับจากแหล่งทุนอื่นหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากแหล่งทุนอื่นด้วย โปรดระบุแหล่งทุนเพื่อประโยชน์ในการพิจารณา โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการได้กับ 7 มหาวิทยาลัยแม่ข่ายงานวิจัยในพื้นที่ สามารถยื่นข้อเสนอโครงการด้วยตนเอง หรือส่งทางไปรษณีย์ ภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 และจะประกาศผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจารณาทาง www.eppo.go.th สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.eppo.go.th/index.php/th/component/k2/item/11715

“ในปีงบประมาณ 2560 ทางกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มีการจัดสรรทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รูปแบบใหม่ โดยได้กำหนดให้ 7 มหาวิทยาลัยแม่ข่ายเป็นผู้ช่วยดำเนินโครงการให้ตอบโจทย์แนวคิดในการพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เพื่อให้งานวิจัยที่ได้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.