สนช.รับหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่ส่งเสริมการจ้างงาน คุ้มครองลูกจ้าง เอื้อนักลงทุน สร้างความมั่นคงคนเกษียณ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางประเภท ลดระยะเวลาในกระบวนการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว เป็นกลไกดึงดูดนักลงทุน และสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุ
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ
รับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยเหตุผลที่ต้องตราร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงต้องเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภท เช่น นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือบางประเภทดังกล่าว ซึ่งอาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป รวมถึงต้องปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับดังกล่าว ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สอดคล้องกันและเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาในกระบวนการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว เป็นกลไกดึงดูดนักลงทุน และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุและเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายมุ่งคุ้มครองสิทธิให้กับลูกจ้างกลุ่มพิเศษดังกล่าว ขณะที่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างกลุ่มพิเศษไว้ชั่วโมงละ 40 บาทไม่ขัดกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อคำนวณตามชั่วโมง และยังช่วยให้เกิดการทำงานภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม และเป็นการช่วยโน้มน้าวให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น ซึ่งขอย้ำว่า คณะกรรมการกำหนดอัตราค่าจ้างฯ จะไม่กำหนดสิทธิของลูกจ้างกลุ่มพิเศษต่ำกว่าสิทธิโดยปกติอย่างแน่นอน พร้อมระบุว่า ข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม เพราะในร่างกฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิ และยืนยันว่าลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้ .

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.