VeChain จับมือ Brightfood จัดทำดัชนีความเชื่อมั่น BrightCode โดยใช้พลังของเทคโนโลยี VeChainThor Blockchain เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในจีน

ในฤดูใบไม้ผลิปี 2547 ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ชาย 4 คนเสียชีวิตจากภาวะสุราเป็นพิษ และอีก 8 คนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ต่อมาในปี 2551 ได้เกิดเหตุนมผงปนเปื้อนสารเมลามีน ส่งผลให้เด็กทารกเสียชีวิต 6 คน และล้มป่วยอีก 54,000 คน ซึ่ง 51,900 คนในจำนวนนี้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในจีนด้วยอาการรุนแรงแตกต่างกัน และในปี 2561 หรือสิบปีหลังจากที่เกิดโศกนาฏกรรมนมผงปนเปื้อน ชาวจีนก็ต้องพบกับเรื่องน่าเศร้าอีกครั้ง เมื่อวัคซีนปลอมสำหรับเด็กจำนวนกว่า 200,000 วัคซีนถูกแจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลรัฐในประเทศ เหตุการณ์ข้างต้นนับเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเรื่องอื้อฉาวมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารและยาที่ผลิตในประเทศจีนนั้นร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีนได้ลงทุนเม็ดเงินมหาศาลในการควบคุมคุณภาพ โดยหลายบริษัท อาทิ Bright Food ทุ่มเทให้กับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพชั้นหนึ่ง แต่กลับพบว่า เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้มั่นใจ ดังนั้น BrightCode จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

BrightCode เกิดจากการพัฒนาร่วมกันของ VeChain และ Shanghai Xiandao ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Bright Food โดยใช้ VeChain ToolChain ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม BaaS รุ่นเน็กซ์เจนของ VeChainThor Blockchain เพื่อสร้างระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ที่ทำงานบนบล็อกเชน และทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มดัชนีความเชื่อมั่นสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในอาหาร พร้อมมอบหลักฐานพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ Bright Food (Group) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นบริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มข้ามชาติที่มีบริษัทมหาชน 5 แห่งในเครือ บริษัทเป็นผู้จำหน่ายอาหารรายใหญ่อันดับสองที่ผลิตอาหารให้กับชาวจีนจำนวน 1.4 พันล้านคน โดยมีสินทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และทำรายได้รวม 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 และเนื่องจาก Bright Food มีอิทธิพลอย่างมากในตลาด จึงเชื่อว่า BrightCode จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้ออาหารและการบริโภคของประชาชนในประเทศจีน

นับตั้งแต่เปิดตัวมา BrightCode ได้ถูกนำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบเพื่อการติดตามวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์กลุ่มแรกที่ถูกนำขึ้นระบบ BrightCode ได้แก่ นม “Cupids Farm” Milk ระดับพรีเมียม

ในกรณีของ “Cupids Farm” Milk นั้น ได้มีการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย และเป็นการเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงหรือความผิดพลาดจากมนุษย์ ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจาก DNV GL ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำของโลก จะถูกอัพโหลดและเก็บไว้ใน VeChainThor Blockchain เพื่อยืนยันความถูกต้องแท้จริงและความเชื่อถือได้

ในขั้นตอนการบรรจุ ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะถูกติดคิวอาร์โค้ดที่ต่างกัน โดยโค้ดแต่ละตัวหมายถึง ID หรือรหัสประจำตัวของสินค้าที่อยู่บน VeChainThor Blockchain ซึ่งเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ด ผู้ใช้หรือผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น ๆ ที่ถูกเก็บอยู่บนบล็อกเชน ตลอดจนได้รู้และเข้าใจอย่างเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น

BrightCode นับเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการนำเทคโนโลยี VeChainThor Blockchain มาใช้สร้างรูปแบบธุรกิจเชิงนวัตกรรม เพราะรูปแบบของ Brightcode สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมของข้อมูลซัพพลายเชนได้ ทั้งยังช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารและความปลอดภัยในประเทศจีนให้กลับคืนมาอีกครั้ง Vechain จะร่วมมือกับ BrightCode เพื่อเดินหน้าส่งเสริมการนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะมีการพัฒนาสายผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และบริการสุขภาพ เพื่อสร้างความสบายใจให้กับผู้บริโภค

เกี่ยวกับ VeChain
VeChain เปิดตัวในปี 2558 เพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีบล็อกเชนกับโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการวางโครงสร้างการบริหารครบวงจร โมเดลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และการบูรณาการ IoT ทั้งนี้ VeChain เป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสาธารณะในโลกแห่งความเป็นจริง และมีการดำเนินงานทั่วโลก ทั้งในสิงคโปร์ ลักเซมเบิร์ก โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ปารีส ฮ่องกง และซานฟรานซิสโก

ความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อย่าง PwC และ DNV GL ทำให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรชั้นนำมากมายในหลายหลากอุตสาหกรรม อาทิ Walmart China, BMW, BYD Auto, Haier, Brightfood Group, D.I.G, DB Schenker และ PICC เป็นต้น

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ VeChain สามารถติดตามได้ทางทวิตเตอร์ @vechainofficial หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ทางการ www.vechain.com

วิดีโอ – https://www.youtube.com/watch?v=3nz9WrYSlC4

เผยแพร่ข่าวโดย:

พีอาร์ บุฟเฟ่ต์ www.prbuffet.com ข่าวประชาสัมพันธ์ online







Leave a Reply

Your email address will not be published.

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.