กระดูกพรุน

หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงกระดูกพรุน

หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงกระดูกพรุน

กระดูกของคนเรามีการสร้างเซลล์ใหม่และสลายเซลล์กระดูกเก่าอยู่ตลอดเวลา ในช่วงวัยเด็กอัตราการสร้างเซลล์กระดูกใหม่จะสูงมาก จนกระทั่งเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป อัตราการสลายกระดูกจะเริ่มมากกว่าการสร้างเซลล์กระดูกใหม่ กระดูกจะค่อยๆ เริ่มบางลงเรื่อยๆ ผู้หญิงจะมีอัตราการเกิดภาวะกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือน เมื่อหมดประจำเดือนแล้วจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ มักมีอาการปวดหลัง ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจนและอาจปวดร้าวไปข้างใดข้างหนึ่ง กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม หรือความสูงลดลง หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสมนะครับ หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงกระดูกพรุนสูง จึงควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กๆ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ งาดำ ผักใบเขียว ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการกระทบกระทั่ง หรือการยกของหนักๆ รวมถึงการตรวจมวลกระดูกประจำปี ก็ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้อีกทางนะครับ การเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงควรทำตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเพราะหลังจากอายุ 35 ปีไปแล้ว จะทำได้เพียงชะลอการสลายกระดูกเท่านั้น นอกจากวัยหมดประจำเดือนที่ต้องการแคลเซียมแล้ว ไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันอาจจะได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ จึงควรต้องตรวจเช็คและรับวิตามินดีเสริมโดยแพทย์ เพิ่มเติมด้วยนะครับ… อย่ารอให้อายุมากขึ้นแล้วค่อยดูแลตัวเองเลยครับ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลายเพราะถ้ารีบเติมแคลเซียมให้ร่างกายตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ก็โบกมือลาโรคกระดูกพรุนไปได้เลยครับ

กระดูกพรุน ไม่สูงอายุก็เป็นได้

กระดูกพรุน ไม่สูงอายุก็เป็นได้

กระดูกพรุนเกิดจากมวลกระดูกที่เสื่อมลง ทำให้กระดูกบาง กระดูกเปราะหักง่าย โรคนี้จะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าใดๆ เลยนะครับ จะรู้ตัวว่ากระดูกพรุนก็เมื่อกระดูกหักไปแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน ไม่ค่อยออกกำลังกาย โดนแสงแดดน้อย การทานอาหารและยา เช่น แอลกอฮอล์ กาแฟ น้ำอัดลม หรือยาสเตียรอยด์ รวมทั้งผู้ที่มีโรคไตเรื้อรัง ผู้หญิงที่ถูกตัดรังไข่และไม่ได้ฮอร์โมนเสริม ก็มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกันนะครับ กระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารและยาที่ทำลายกระดูก ออกกำลังกายและรับแสงแดดเป็นประจำ หากมีความเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเองครับ… แต่ถ้าอยากรู้ว่ากระดูกพรุนแล้วหรือยัง สามารถรู้ได้ด้วยการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Densitometry) ใช้เวลาไม่นาน นอนนิ่งๆ ให้เครื่องเอกซเรย์แสกนผ่านบริเวณที่ต้องการตรวจประมาณ 20-30 นาทีครับ